เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีในดวงใจของผู้เขียน
เขียนร้อยกรองอย่างไร "จับ" ตรง "ใจ" คนอ่าน สั้นๆ (ความสำคัญเรียงตามลำดับ)
1. อ่านง่าย
2. ใช้คำเหมาะ
3. ไพเราะสัมผัส
ยาวขึ้นหน่อย1. สื่อจุดหมาย
2. ขยายคำ
3. เน้นสัมผัส
4. คัดคำหรู
5. ดูสามัญ
6. ฉันทลักษณ์
1. สื่อจุดหมาย คือการตั้งธง (เป็นภาษากฏหมาย มีความหมายทำนองว่า ตั้งเป็นประเด็นหลัก) ว่าจะบอกอะไรกับคนอ่าน เช่น ฉันโกรธเธอแล้วนะ ที่ลืมซื้อมะละกอมาให้ในวันเกิดหมาของฉัน หรือ ที่โทรมาตอนนั้นฉันเข้าหัองน้ำน่ะ มีอะไรจ๊ะ? หรือ หัวใจฉันหล่นอยู่ข้างประตูตอนเธอออกไป เที่ยวดีกๆ กลับมามืดๆ อย่าเผลอเหยียบล่ะ (มันลื่น) ฯลฯ
2. ขยายคำ ค่อยๆ (เน้นว่า ค่อยๆ) บอกรายละเอียด หรือความในใจ บรรยายสิ่งที่อยากจะบอก แต่ถ้าหัวใจมันเกิดอัดอั้น อยากจะประดังพรั่งพรูออกมา ก็รีบเขียนให้เร็วและมากที่สุด ผิดถูกช่างมัน ก่อนที่จะหมดแรงดัน แล้วค่อยๆ มาละเลียดแก้ไขในภายหลัง
3. เน้นสัมผัส ธรรมชาติของร้อยกรอง (ยกเว้นกลอนเปล่า) จะไพเราะควรมีคำสัมผัสบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่อย่าพร่ำเพรื่อโดยไม่มีความหมาย หรือไม่ทราบความหมาย เอาสัมผัสสวยเข้าว่า เพราะหากมารู้เข้าทีหลังว่า ที่เราเขียนไป แปลออกมาแล้วเป็นอย่างไร อาจหัวเราะก้าก หรือถึงขนาดอยากขุดรูอยู่สักพัก เจอคำสัมผัสยากควรหลีกเลี่ยง เปลี่ยนคำส่งสัมผัส (ของเราเอง เช่นคำสุดท้ายของบท) เป็นคำอื่นที่หาคำรับง่ายกว่า หรือหากคนอื่นส่งคำสัมผัสยากมา ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงอย่าไปต่อไปรับ เพราะมีโอกาส "ฆ่าตัวตาย" หากใช้คำรับเชยๆ ที่ไม่มีความหมายหรือความหมายเป็นลบ
4. คัดคำหรู เฟ้นหาถ้อยคำที่สละสลวย ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคำที่หรูหราจนต้องเปิดหาคำแปลในพจนานุกรม กวีมีชื่อเสียงหลายท่าน (เช่น สุนทรภู่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ) ผ่านข้อนี้ไป เป็น.....
5. ดูสามัญ ใช้คำธรรมดาที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ทุกคนสามารถอ่านผ่านรอบเดียวก็เข้าใจ ไม่ต้องถึงกับไปเปิดดิกฯ ว่ามันแปลว่าอะไร ท่านที่ชำนาญจะมีความสามารถในการนำคำธรรมดาสามัญมาผูก มาเชื่อม มาต่อกันแล้ว ฟังดูแปลกตาและสละสลวยได้ ให้ลองสังเกตดู
6. ฉันทลักษณ์ ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ ก็ควรจะถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ที่ปรมาจารย์ท่านคิดค้นกำหนดมา หลายท่านจะยึดถือฉันทลักษณ์ว่าสำคัญที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องในทัศนะของท่าน นานาจิตตังครับ
และหลังจากนั้น
ที่สำคัญมาก หากมีโอกาสอ่านทวน ตรวจตรา แก้ไข สักหลายๆ เที่ยว (เป็นสิบก็ยิ่งดี) ก็จะพบคำที่เพราะกว่า สละสลวยกว่า เท่กว่า อ้อนกว่า ชอกช้ำกว่า กินใจกว่า กวนกว่า และ.... เชยน้อยกว่า อีกเยอะแยะเชียว
ผมเอง ทำไม่ได้ทั้งหมดอย่างที่ว่ามาข้างต้นหรอก แต่ประสบการณ์ที่อ่านและศึกษาแบบอย่างที่ดีมาพอสมควร มองเห็นภาพรวมเป็นเช่นที่กล่าวมานี้ ก็ได้พยายามปรับปรุงตัวเองทีละเล็กละน้อยเสมอมา ค่อยๆ ละลดอัตตาลงบ้าง จำรูปแบบที่น่าประทับใจไว้ปรับปรุงใช้เองบ้าง จนเดี๋ยวนี้พอจะเรียกได้ว่า เขียนกลอนให้คนอ่านรู้เรื่องได้โดยไม่ต้องแปล และไม่ถูกแอบอมยิ้ม (เยาะ)
เมื่ออดีตครั้งเรียนชั้นมัธยม ก่อนจากเพื่อนๆ ตอนปลายปีแยกย้ายไปหาที่เรียนต่อ เคยเขียนกลอนยาวบรรยายถึงเพื่อนแต่ละคนในชั้นเรียน รวมทั้งอาจารย์ที่สอนแต่ละวิชาด้วย ได้เขียนท่อนหนึ่งตอนจบบทถึงอาจารย์เอกชาติฯ อาจารย์สอนภาษาไทยว่า "เอกชาติภาสกรอมรมาน" ครั้นต่อมาไม่นาน ได้ยินเสียงอาจารย์บ่นแว่วๆ ลอดออกมาจากห้องพักครูว่า "นี่ฉันกลายเป็นเทวดาผู้มีหัวใจดั่งพระอาทิตย์ไปซะแล้วหรือนี่ (ฮ่า ฮ่า ฮ่า)" .... แป่ววว!!!!