ประวัติกลอนไฮไก เซ็นริว
๑.ไฮไกย่อมาจากคำว่า ไฮไกโนะ เร็งงะ โดยเป็นกลอนที่พัฒนามาจากเร็งงะ กลอนเร็งงะจะมีจำนวนพยางค์เป็น ๕๗๕๗๗ แต่ไฮไก จะตัดเหลือแค่ ๕๗๕ โดยจะเน้นความสนุกสนานบันเทิงเป็นหลัก ในช่วงแรกของสมัยเอโดะ กวีชื่อมะท์ซุนนะงะ เทะอิโตะกุ ได้เป็นผู้พัฒนาแยกกลอนไฮไกออกมาจากเร็งงะ เพื่อให้เป็นวรรณคดีของชาวบ้าน ต่อมาไฮไกสายดันริว ซึ่งนำโดยนิฌิยะมะ โซอิน ได้ทำให้เกิดไฮไก ในลักษณะที่เน้นความเป็นอิสระไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ พอเข้าสู่ยุคเก็นโระกุ (ช่วง ค.ศ.๑๖๘๘-๑๗๐๔) มะท์ซุโอะ บะโฌ ได้พัฒนาศิลปะกลอนไฮไกจนสมบูรณ์แบบ แต่หลังจากที่บะโฌเสียชีวิตไป ศิลปะการแต่งกลอนไฮไกก็เข้าสู่ยุคที่ตกต่ำลง มีกวีหลายคนที่พยายามจะรักษาศิลปะการแต่งกลอนไฮไกเอาไว้เช่น โยะซะ บุซน ซึ่งเป็นกวียุคเท็มเมะอิ (ช่วง ค.ศ.๑๗๘๑-๑๗๘๙)
กลอนไฮไกนี้เมื่อเข้าสู่สมัยเมจิ กวีชื่อ มะซะโอะ กะฌิกิ ได้เปลี่ยนคำเรียกชื่อกลอนไฮไกใหม่เป็นกลอนไฮกุ ซึ่งยังเป็นคำเรียกที่ใช้กันมา จนถึงปัจจุบัน
๒.กลอนเซ็นริว
เซ็นริวเป็นกลอนสั้นๆที่มีแค่ ๑๗ พยางค์(๗๕๗) เหมือนกับกลอนไฮไก แต่จะไม่ใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับแบบไฮไก ไม่ต้องมีคำแสดงฤดูกาล เน้นความรู้สึกสนุกสนานสามารถแสดงความคิดความรู้สึกได้อย่างอิสระ จึงมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสียดสีหรือวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือใช้กล่าวถึงเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นต้นคิดแต่งกลอนเซ็นริวก็คือ คะระอิ เซ็นริว ซึ่งชื่อของเขาก็ถูกนำมาใช้เรียกชื่อกลอนประเภทนี้ หนังสือรวมกลอนที่สำคัญของเขาได้แก่ ยะงะนิดะรุ ใน ค.ศ.๑๗๖๕
จากหนังสือประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น
โดย อรรถยา สุวรรณดา
สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ป.ล.บังเอิญจำได้ว่า วันที่ ๒๕/๐๓/๒๕๕๖ เข้าห้องสมุดแล้วเจอหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ วันนี้ไปค้นเลยจดมาให้อ่าน