Re: หัวข้อ กลอนสุภาพ (กลอน ๘)
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน
26 เมษายน 2024, 11:48:PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

กด Link เพื่อร่วมกิจกรรม ผ่านFacebook (หรือกดปุ่มสมัครสมาชิกด้านบน)
 
ผู้เขียน หัวข้อ: หัวข้อ กลอนสุภาพ (กลอน ๘)  (อ่าน 127960 ครั้ง)
Kotchanan
บุคคลทั่วไป
« เมื่อ: 07 มกราคม 2010, 04:45:AM »



เพิ่มเติมคำอธิบายฉันทลักษณ์
เรื่อง : เสียงท้ายวรรคและการผันเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค

 

วิธีใช้วรรณยุกต์ ในคำสุดท้ายของแต่ละวรรค


คำท้ายวรรค สดับ (วรรคหนึ่ง) ใช้ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ไม่นิยมสามัญ


คำท้ายวรรค รับ (วรรคสอง) ห้ามใช้ สามัญและตรี นิยมใช้ จัตวา เป็นส่วนมาก


คำท้ายวรรค รอง  (วรรคสาม) ใช้ สามัญ หรือ ตรี ห้ามใช้ เอก โท จัตวา


คำท้ายวรรค ส่ง (วรรคสี่) ใช้ สามัญหรือตรี ห้ามใช้ เอก โท จัตวา นิยมสามัญ



การผันเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค

การแต่งกลอนแปดนั้น "การผันเสียงวรรณยุกต์ถือตามเสียง ไม่ใช่ถือตามวรรณยุกต์ที่ปรากฎ"..
เวลาลงเสียงท้ายวรรคแต่ละวรรค ผู้แต่งควรไล่เสียงในใจก่อน ก็จะได้คำและเสียงในใจทันที..
โดยเอาเสียงตามความเป็นจริง ไม่ถือรูปวรรณยุกต์ เพราะรูปวรรณยุกต์บางรูปเสียงอาจจะหลอก (อ้างอิงจากคุณระนาดเอก)

วิธีการไล่เสียงวรรณยุกต์

เสียงในภาษาไทยมีอยู่ ๕ เสียง คือ เสียงสามัญ  เสียงเอก  เสียงโท  เสียงตรี และเสียงจัตวา
เริ่มผัน ตัวอย่าง เช่น กา  ก่า  ก้า  ก๊า  ก๋า
ไตรยางค์พยัญชนะ ๔๔ ตัว  แบ่งเป็นอักษรสูง ๑๑ ตัว    อักษรกลาง  ๙ ตัว  และอักษรต่ำ  ๒๔ ตัว

สำหรับอักษรสูงพื้นฐานเป็นเสียงจัตวา
ส่วนอักษรกลางกับอักษรต่ำพื้นฐานเป็นเสียงสามัญ

ปัญหาอยู่ที่ว่า  สำหรับคนที่ใช้ภาษาถิ่น เช่นจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน เมื่อผันเสียงอาจเพี้ยนได้

ขอนำเคล็ด(ไม่)ลับง่ายๆ  (จากหนังสือต้มยำทำกลอน)มาฝากค่ะ

วิธีเรียนลัดต้องจำไว้ก่อน (เข้าใจทีหลัง) โดยเฉพาะคำเป็นเท่านั้น 
ถ้าเป็นอักษรกลางผันด้วยรูปวรรณยุกต์อะไรต้องเป็นเสียงนั้นวันยังค่ำ
ส่วนอักษรต่ำ เช่น  คน  เติมรูปวรรณยุกต์โท (้) เป็นเสียงตรี (๊)    เติมรูปวรรณยุกต์เอก (่) เป็นเสียงโท (้)  เป็นต้น
ถ้าอักษรสูง เช่น ขอ เสียงจัตวา  เติมรูปวรรณยุกต์โท  เอก  ก็เป็นเสียงนั้นอยู่แล้ว


ขอขอบพระคุณเวปไซต์ http://www.st.ac.th/bhatips/glon.htm
คำแนะนำเรื่องการผันเสียงวรรณยุกต์จากคุณระนาดเอก
และเคล็ดไม่ลับ..จากหนังสือต้มยำทำกลอน

และส่งท้ายด้วย


เพชรน้ำหนึ่ง
ประพันธ์โดย : ส. เชื้อหอม



กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพ"เราะ"   
เขียนให้"เหมาะ"  แปดคำ เพชรน้ำ"หนึ่ง"
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกน"กลึง"
กลอนจะ"ซึ้ง" ติดใจ และให้"คุณ"

คำสุดท้าย วรรคแรก แยกพิ"เศษ"
สามัญ"เขต" หวงห้าม ตามเกื้อ"หนุน"
ท้ายวรรคสอง ต้องรู้ อยู่เป็น"ทุน"
เอก-โท"จุน" จัต- วาประ"พนธ์"

ท้ายวรรคสาม วรรคสี่ นี้จำ"มั่น"
เสียงสา"มัญ" -ตรีใช้ ได้ทุก"หน"
สัมผัสซ้ำ จำจด งดปะ"ปน"
จงคิด"ค้น"  ถ้อยคำ ที่จำ"เป็น"

ไม้ไต่คู้ ใช้กับ ไม้ไต่"คู้"
เมื่อฟัง"ดู" เด่นดี ดั่งที่"เห็น"
เสียงสั้นยาว ก้าวก่าย หลายประ"เด็น"
อย่าบำ"เพ็ญ" พ้องกัน นิรัน"ดร"

อย่าเขียนให้ ใจความ ตามเพ้อ"นึก"
จงตรอง"ตรึก" ตระหนัก เรื่องอัก"ษร"
คติธรรม นำใส่ ให้สัง"วร"
รวมสุน"ทร" ถ้อยไว้ ให้งด"งาม"

จุดจบก็ ขอให้ กินใจ"หน่อย"
มิควร"ปล่อย" เปะปะ เหมือนสะ"หนาม"
จบให้เด่น เห็นชัด จำกัด"ความ"
ให้ตรง"ตาม" เค้าโครง เรื่องโยง"ใย"

เขียนเสร็จสรรพ กลับมา ตรวจตรา"ผิด"
ตรวจช"นิด" เรียงตัว ทั่วกัน"ใหม่"
เมื่อเห็นเพราะ เหมาะดี จี้หัว"ใจ"
จึงเผย"ให้" ประชา ชนตรา"ตรึง"

กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพ"เราะ"
เขียนให้"เหมาะ" แปดคำ เพชรน้ำ"หนึ่ง"
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกน"กลึง"
ผู้อ่าน"จึง" จะชอบ ชมขอบ"คุณ".






ขอบพระคุณ ที่กรุณาเยี่ยมชมนะจ๊ะ :

จารุทัส

ข้อความนี้ มี 1 สมาชิก มาชื่นชม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 มกราคม 2012, 11:06:PM โดย บ้านกลอนไทย » บันทึกการเข้า

Email:
Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
s s s s s