กลอนธรรมะไม่จำเป็นต้องไพเราะ
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน
20 เมษายน 2024, 06:42:PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

กด Link เพื่อร่วมกิจกรรม ผ่านFacebook (หรือกดปุ่มสมัครสมาชิกด้านบน)
 
หน้า: [1]
  ชุมชน  |  ส่งหัวข้อนี้  |  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กลอนธรรมะไม่จำเป็นต้องไพเราะ  (อ่าน 6981 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
30 สิงหาคม 2010, 03:38:PM
เพรางาย
ผู้ดูแลบอร์ด

*

คะแนนกลอนของผู้นี้ 553
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1,312


ทุกคำถามจะนำมาซึ่งคำตอบ


« เมื่อ: 30 สิงหาคม 2010, 03:38:PM »
ชุมชนชุมชน

คำประพันธ์ บทพระธรรม ไม่จำเพาะ
ว่าจะต้อง ไพเราะ เพราะอักษร
หรือสัมผัส ช้อยชด แห่งบทกลอน
ที่อรชร เชิงกวี ตามนิยมฯ

ขอแต่งเพียง ให้อรรถ แห่งธรรมะ
ได้แจ่มจะ ถนัดเห็น เป็นปฐม
แล้วได้รส แห่งพระธรรม ด่ำอารมณ์
ที่อาจบ่ม เบิกใจ ให้เจริญฯ

ให้นิสัย เปลี่ยนใหม่ จากก่อนเก่า
ไม่ซึมเศร้า สุขสง่า น่าสรรเสริญ
เป็นจิตกล้า สามารถ ไม่ขาดเกิน
ขอชวนเชิญ ชมธรรมรส งดกวีฯ


กลอนข้างต้นนี้เป็นผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ  ซึ่งข้าพเจ้าชื่นชมผลงานกลอนจำนวนมาก  ขนาดซื้อที่รวมเล่มงานกลอนของท่านมาไว้อ่านสอนใจตัวเอง

เนื่องจากมีการกล่าวถึงบทกลอนนี้  ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวถึงสักหน่อย  เพราะคิดว่าจะทำให้หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนไป  หรือหากคิดว่าเข้าใจถูกต้องแล้วก็ขอให้รับฟังอีกมุมหนึ่งจากคนอ่านกลอนนี้ที่มิได้มีอคติใดๆ ต่อผู้ประพันธ์

การที่เขียนธรรมะเป็นบทกลอนนั้นก็คงจะเป็นเพราะคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน  ดังนั้นหากใช้งานเขียนกลอนเป็นการสอนหรือปลูกฝังธรรมะนอกเหนือไปจากการเขียนกลอนรักก็จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าธรรมะนั้นไม่ใช่ยาขมหม้อใหญ่

แต่ถ้าลองสังเกตดูงานเขียนกลอนธรรมะทั้งหลาย  จะเห็นว่าผู้เขียนจะยึดฉันทลักษณ์คือสัมผัสบังคับของกลอน อย่างเหนียวแน่น  แม้แต่เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคก็ยังไม่มองข้าม 

ดังเช่นผลงานกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ยกมาข้างต้น  จะเห็นว่า  แม้ใจความจะบอกว่าไม่ต้องยึดความไพเราะของบทกลอน  แต่กลอนที่ท่านประพันธ์นั้นมีสัมผัสนอก สัมผัสใน  สัมผัสอักษร   สัมผัสระหว่างบทอย่างสละสลวย  บอกให้รู้ว่าถ้าจะแต่งให้ไพเราะก็ทำได้  และบอกว่ามีความรู้ในด้านการแต่งกลอน

เช่น  คำสุดท้ายของวรรคที่สองของกลอนสุภาพ  ถ้าจะให้ไพเราะที่สุดต้องเป็นเสียงจัตวา  รองลงมาคือเสียงโท  เสียงที่ห้ามหนักหนาคือสามัญ  และตรี  ในบทกลอนนี้ทุกบท  วรรคที่สอง  ท่านก็ได้เลือกใช้เสียงวรรณยุกต์จัตวาที่ถือว่าไพเราะที่สุด

และสัมผัสระหว่างบท  ในกลอนทั้งสามบทนั้น  ท่านก็ได้ร้อยสัมผัสระหว่างบทเอาไว้เรียบร้อย 
บทที่ ๑ ส่งคำว่า  นิยม  บทที่ ๒ รับด้วย  ปฐม  อารมณ์  และบ่ม
บทที่ ๒ ส่งคำว่า  เจริญ  บทที่ ๓ รับด้วย  สรรเสริญ  ขาดเกิน  และชวนเชิญ
มิได้ลืมหลงหรือทิ้งขว้างสัมผัสระหว่างบทซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกภาพของงานกลอนแต่อย่างใด

หรือหากลองพิจารณาจากงานชิ้นอื่นของท่าน
เช่น


มองแต่แง่ดีเถิด
•   เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
•   จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ

จะดูโลกแง่ไหนดี?
•   จงดูเถิด โลกนี้ มีหลายแง่
ดูให้แน่ น่าสรวล เป็นชวนหัว
หรือชวนเศร้า โศกสลด ถึงหดตัว
ดูให้ทั่ว ถ้วนความ ตามแสดง
•   จะดูมัน แง่ไหน ตามใจเถิด
แต่ให้เกิด ปัญญา มาเป็นแสง
ส่องทางเดิน ชีวา ราคาแพง
อย่าให้แพลง พลาดพลั้ง ระวังเอย ฯ



จะเห็นว่าไม่มีการผิดพลาดฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ  ไม่มีการซ้ำคำสัมผัส  ชิงสัมผัส  สัมผัสเลือน  หรือใช้เสียงวรรณยุกต์ท้ายคำ

สิ่งที่หายไปบ้างในแต่ละวรรค  มักจะเป็นสัมผัสในที่จะเสริมความไพเราะของกลอนเสียมากกว่า


ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเชื่อว่า  การที่จะใช้กลอนเพื่อนเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธศาสนา  คงไม่ใช่การกดขี่ข่มเหงฉันทลักษณ์แห่งกลอน  ซึ่งนักปราชญ์อย่างท่านพุทธทาสไม่เคยทำและคงไม่อยากถูกยกเป็นข้ออ้างในการยกเว้นแบบแผนซึ่งยอมรับกันมาของการเขียนคำประพันธ์แต่ละประเภท


คำประพันธ์ บทพระธรรม ไม่จำเพาะ
ว่าจะต้อง ไพเราะ เพราะอักษร
หรือสัมผัส ช้อยชด แห่งบทกลอน
ที่อรชร เชิงกวี ตามนิยมฯ


หากนำมาเรียงเป็นร้อยแก้วดีๆ  จะ ได้ว่า  “ไม่จำเพาะว่าจะต้องไพเราะเพราะอักษรหรือสัมผัสอันช้อยชดแห่งบทกลอน”

คำว่า  ไม่จำเป็นต้องไพเราะ  ที่ท่านต้องการสื่อคงหมายถึง   การงดสัมผัสในอันพราวพรายระหว่างจังหวะในแต่ละวรรคกลอน  ซึ่งจะสร้างความไพเราะหรือลูกเล่นเชิงกวี  ทว่า...หากไม่สามารถสื่อความนัยที่ต้องการต่อให้แต่งได้กลมกลืนต่อเนื่องไปก็หาประโยชน์มิได้

แต่ไม่เชื่อว่าท่านจะชื่นชมยินดีต่อการเขียนโดยไม่สนใจกฎเกณฑ์ฉันทลักษณ์ที่นำมาใช้เผยแผ่ธรรมะ  เพราะหากไม่สนใจจะทำให้ถูกต้องอยู่แล้ว  ก็ใช้ร้อยแก้วบอกสอนไปเลยจะดีกว่า



อยากจะชี้แจงให้เห็นมุมมองนี้บ้าง  เพราะข้าพเจ้าเองก็เคารพนับถือท่านพุทธทาสภิกขุมายาวนาน  และก็รักและเคารพงานกลอนที่บรรพชนได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา

ธรรมะและบทกวีไปด้วยกันได้  แต่ต้องไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

ขอบพระคุณ ที่กรุณาเยี่ยมชมนะจ๊ะ : เขียนชีวิต, นพตุลาทิตย์, พิมพ์วาส, ♥หทัยกาญจน์♥, พี.พูนสุข

ข้อความนี้ มี 5 สมาชิก มาชื่นชม
บันทึกการเข้า

คนที่กำลังไล่ตามความฝัน  ท่ามกลางความผกผันของเวลา
หน้า: [1]
  ชุมชน  |  ส่งหัวข้อนี้  |  พิมพ์  
 

Email:
Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
s s s s s