เสร็จจากนาง กำนัล สั่งอำมาตย์
ให้ประกาศ ราชโองการ ตามถนน
ทุกแยกแพร่ง ทุกหนแห่ง แหล่งชุมชน
ขอปวงชน จงคลายทุกข์ เป็นสุขกัน
บัดนี้องค์ เทวี มีทายาท
ไว้สืบชาติ เผ่าไท มไหศวรรย์
สมมุ่งมาด ราษฎร์บพิตร ที่คิดกัน
จงสุขสันต์ บันเทิง เริงสราญ
เร่งรีบจัด ประดับแต่ง แหล่งที่อยู่
ให้น่าดู หดหู่คลาย ในทุกสถาน
ร่วมเฉลิม ฉลองสุข สนุกสำราญ
ต่อเนื่องกาล เจ็ดวันมี จากนี้ไป
เหล่าทวยราษฎร์ ทราบความ ตามประกาศ
สุขเอิบอาบ ซาบซ่าน ทุกข์จางหาย
เปล่งไชโย โห่ร้อง ดังก้องไกล
ต่างเบิกบาน สำราญใจ ในบัดดล
องค์จอมไท้ ฤทัยโปร่ง โล่งเป็นสุข
ไม่ต้องผุด ลุกนั่ง ช่างสุขสม
หลับสนิท จิตผ่องใส ไร้กังวล
ยามบรรทม กรนลั่น สนั่นไป
คืนวันผ่าน กาลเลื่อน ไม่เคลื่อนกลับ
เกิดแล้วดับ สลับวน ไม่สงสัย
เมื่อมีสุข ต้องมีทุกข์ คลุกเคล้าไป
หมุนอยู่ใน ใจมนุษย์ ปุถุชน
จวบวันครบ ทศมาส ทายาทคลอด
เสียงลั่นลอด ห้องดัง ฟังฉงน
เปี่ยมกำลัง พลังกล้า น่าพิกล
เด็กมากล้น พ้นจักเปรียบ จักเทียบทัน
กุสราช ราชกุมาร นามเสนาะ
ฟังไพเราะ เพราะชื่อ สื่อสุขสันต์
แต่ขนง วงพักตร์ ไม่รับกัน
ใบหน้านั้น จึงไม่งาม ดั่งนามองค์
หลังเชษฐา พระพี่ยา ท่ายืนได้
องค์อ่อนไท้ ได้คลอดบุตร สุดงามสม
ดั่งเทวัญ ชั้นฟ้า มาอีกองค์
ตามประสงค์ องค์เทวะ มัฆวา
กุมารรอง น้องขวัญ ชยัมบดี
เปี่ยมราศี มีโอภาส ยากจักหา
ชายใดเปรียบ เทียบได้ ในพารา
แต่ปัญญา นั้นกลับสั้น ช่างกระไร
สองพี่น้อง ปรองดองรัก สมัครสมาน
ดูงดงาม ยามยล ไม่สงสัย
พี่รักน้อง น้องรักพี่ มีตอบไป
องค์จอมไท้ ให้วางใจ ไม่กังวล
จวบองค์ใหญ่ เจริญวัย ได้สิบหก
ผ่านพิภพ ตกลงใจ ใคร่ประสงค์
ให้ปกครอง ผองหล้า ธราดล
หวังจักทรง ปลงภาระ พักสบาย
จึงรับสั่ง ยังทหาร ยืนยามเฝ้า
แจ้งแม่เจ้า ท้าวอนงค์ องค์โฉมฉาย
ให้มาร่วม ปรึกษา หารือไว
เห็นอย่างไร ในความคิด ดำริองค์
พอเทวี สีลวดี นารีรัตน์
ถึงตำหนัก ธ ตรัสแจ้ง แจงประสงค์
บอกสละ สมบัติให้ บุตรใหญ่ตน
พร้อมสนม นงราม ตามต้องการ
แถมนางฟ้อน ยองใย วัยละอ่อน
ไว้ออดอ้อน นอนหลับ คอยขับขาน
แลรับใช้ ในทุกอย่าง ตามต้องการ
เยี่ยงชายชาญ สำราญรื่น ชื่นฤทัย
ฤาลูกรัก สมัครใคร ในแผ่นหล้า
เหล่าธิดา นารี ธานีไหน
สูงขาวคล้ำ ดำเหลือ ชาติเชื้อใด
พี่จะไป ขอมาให้ ได้เชยชม
องค์เทวี ศรีสะอาง นางกษัตริย์
เห็นพ้องสรรพ ไม่ขัดใด ให้เหมาะสม
ถึงตำหนัก ตรัสนางใน ไปบังคม
แจ้งประสงค์ องค์ขัตติยะ กับบุตรชาย
มหาสัตว์ สดับความ ตามดำรัส
ให้อึดอัด หนักจิต คิดมากหลาย
ทรงรู้องค์ ไม่ทรงงาม อย่างน้องชาย
หญิงต่างหมาย ชายคมสัน กันทุกคน
เห็นทีเรา ควรอยู่เหย้า เฝ้าพ่อแม่
ยามท่านแก่ ยักแย่ยักยัน ความจำหลง
คอยบำรุง พยุงใจ คลายทุกข์ทน
ให้ท่านพ้น ลำบาก จากสบาย
ส่งไทวะ พระบิดา มารดาแล้ว
หวังใจแผ้ว ผ่องผุด ทุกข์สลาย
ควรถือพรต งดกรรม นำอบาย
เข้าป่าใหญ่ ไปฝึกใจ ให้ใฝ่ธรรม
หลังครวญคิด พินิจจน ปลงใจแน่
จึงตรัสแก่ ข้าแม่ไป ในมุ่งหวัง
ขอพี่สาว เข้าไปแจ้ง แถลงคำ
สิ่งมุ่งมั่น ภายใน ฤทัยมี
บอกมารดา บุตรหา ปรารถนาสมบัติ
ขอพิงพัก พำนักอยู่ ดูสองศรี
ตราบชีวัน ท่านลับ ดับชีวี
แล้วจักลี้ พงพีท่อง ล่องพฤกษ์ไพร
บวชโยคี เป็นฤาษี หนีวัฏฏะ
เพียรสละ ตัดทอน ถอนหลงใหล
ปลงปลิโพธ โกรธเคือง เครื่องทุกข์ใจ
จวบสลาย ตายพนา ป่าลำเนา
นางรับใช้ ได้ฟัง พลันก้มกราบ
แทบสองบาท ถอยจากไป ใจอับเฉา
ฟังโอรส ระทดใจ ให้ซึมเซา
แจ้งแม่เจ้า เล่าไข ในเนื้อความ
บัดนั้น สีลวดี นารีรัตน์
ครั้นสดับ ดำรัสบุตร สุดสงสาร
ฟังกำนัล รำพันกล่าว เศร้าดวงมาน
แต่ไม่พาน ตามใจ ในลูกตน
จึงสองวัน ผันผ่าน สั่งถามใหม่
หวังจักได้ ยินคำ ดังประสงค์
นางกำนัล ยืนยันบอก ตอบมั่นคง
ไม่ประสงค์ ทรงรับ สมบัติไท
ถามกลับไป กลับมา สามคราครั้ง
หวังจักฟัง คำตอบรับ กลับให้ได้
มหาสัตว์ คิดตัดความ ไม่บานปลาย
จึงอุบาย อ่อนไท้ ให้อับจน
ทรงรับสั่ง ยังทหาร ยืนยามเฝ้า
ไปบอกกล่าว เล่าความ ตามประสงค์
แจ้งช่างทอง ขนทองมา หาพระองค์
อย่าได้สง สัยถาม ความใดใด
หลังสั่งการ ไม่นานครัน พลันแลเห็น
สองรถเข็น เอียงแปล้ แอ้เอี๊ยดไส
ค่อยค่อยคืบ กระดืบมา ช้าเหลือใจ
ทองแท่งใหญ่ ไสวเรือง เหลืองเต็มคัน
ถึงเบื้องพักตร์ พระโอรส คนรถหยุด
ทิ้งตัวทรุด ฟุบแข้ง ไม่แข็งขัน
พะงาบหอบ หมอบกราบ ยากกล่าวคำ
ทูลงึมงัม นำคำก้อน พร้อมบัญชา
มหาสัตว์ ก้มพักตร์มอง ช่างทองกล่าว
เนตรยิ้มพราว วาวละไม ไม่ถือสา
สี่นายช่าง นั่งหอบดิน สิ้นกริยา
ตรัสวาจา ลำบากแล้ว พ่อแก้วเอย
แล้วจึงมี ดำรัส กับเหล่าช่าง
บอกพวกท่าน ตั้งใจฟัง คำเฉลย
เราอยากได้ รูปหล่องาม นางทรามเชย
ใกล้เขนย ตั้งห้องนอน มองบรรทม
ขอพวกท่าน จงนำทอง ไปหลอมหล่อ
นวลลออ นงราม งามสวยสม
ราวอัปสร มองไม่เบื่อ เมื่อได้ยล
ให้ดังสม ใจเรา จักเฝ้ารอ
หนึ่งรถเข็น เต็มทอง ของพวกท่าน
จงเร่งนำ ทำตาม อย่างที่ขอ
ส่วนอีกคัน ดันไปหลัง ตำหนักพอ
เสร็จพวกพ่อ กลับพำนัก ที่พักไป
สี่ช่างทอง น้อมรับ ดำรัสสั่ง
หลังได้ฟัง พลันแยก แตกสองสาย
หนึ่งเข็ญกลับ พำนัก ที่พักไป
หนึ่งมุ่งใน ทิศทาง ตามบัญชา
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน |
06 ธันวาคม 2024, 06:47:PM | |||
|
ผู้เขียน | หัวข้อ: กุสติณราช ประพันธ์โดย สืบ ธรรมไทย (อ่าน 1292 ครั้ง) |
| ||||||||||
Email: