Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน
25 เมษายน 2024, 06:18:PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

กด Link เพื่อร่วมกิจกรรม ผ่านFacebook (หรือกดปุ่มสมัครสมาชิกด้านบน)
 
ผู้เขียน หัวข้อ: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน  (อ่าน 11277 ครั้ง)
ค.คนธรรพ์
Special Class LV3
นักกลอนผู้มากผลงาน

***

คะแนนกลอนของผู้นี้ 73
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 145


คำ คำ คำ ค่ำ ค่ำ คำ คำ


« เมื่อ: 15 กันยายน 2012, 07:09:PM »


๒ การใช้คำ
ผู้แต่งใช้คำอยู่ในกลุ่มคำไทยเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ แคว้น คุ้ง ลุ่มน้ำ คน ไก่ นก เกวียน พงไพร เพรง เพลง แผ่ว พลิ้ว กล่อม เป็นต้น
ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาท้องถิ่นไทยในอดีตเป็นอย่างดี
แต่หากผู้แต่งถนัดภาษาพื้นบ้าน  เพิ่มคำพื้นที่ราบสูงอีกหน่อย (ในบทกวีมีสองคำ  ฮัก เฮา)
ให้ข้าวเหนียวปลาร้าโชยกลิ่นอ่อนๆ ก็จะได้บรรยากาศท้องถิ่นอีสานมากยิ่งขึ้น

ในบทกวีปรากฏคำซ้ำบ่อยเกินไป  ข้อนี้อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นผู้อับจนถ้อยคำ 
ดังนั้นในความทรงจำของนักกวีจึงต้องมีคำศัพท์ให้เลือกสรรอยู่มากเพียงพอ
เป็นคลังคำในสมองที่สั่งสมมาจากการฟังพูดอ่านเขียน
มิฉะนั้นก็ต้องพึ่งหนังสือคลังคำและพจนานุกรมข้างกายโดยสามารถเลือกเฟ้นคำได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง


เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ

มนต์เสียงพิณแผ่วพลิ้ว………..องคุลี
ปานดั่งทิพย์เทพกวี…………….กล่อมย้ำ
สายธารแห่งดนตรี……………..บอกถิ่น เฮาเอย
เพลงคู่พิณหวานล้ำ…………….รุ่งรุ้ง ผงาดแดน ฯ

การส่งสัมผัสสระซ้ำบาทแรกติดกันสองบท  ผู้วิจารณ์ในฐานะมือโคลงรู้สึกว่า  เสียงของบทกวีอ่อนกำลังทำให้ความไพเราะน้อยลง
   

แสงทองทาบทุ่งข้าว………….เรืองวิไล              ส่งสัมผัสสระไอซ้ำติดกันสองบท
นกกล่อมกังวานไกล………….ว่อนคุ้ง
เสียงเพลงถิ่นพงไพร………….บอกกล่าว
เป็นสื่อฮักสายรุ้ง……………...แน่นแฟ้นพิสมัย ฯ

เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ

๓ กวีโวหาร คือ ภาษาเชิงกวีที่ผู้แต่งคิดรังสรรค์ขึ้น ได้แก่ สัมผัสสระ สัมผัสอักษร กลบท
ภาพพจน์และกลวิธีอื่นๆเพื่อให้ผลงานของตนบังเกิดรสทางวรรณศิลป์

ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยกลบทกระทู้เดี่ยวได้น่าสนใจโดยแตกกระทู้สาย เป็นสี่ความหมาย
คือ  ๑)ลำน้ำอันอุดมสมบูรณ์  ๒)ความโอบอ้อมอารีของคนพื้นถิ่น ๓)ทิวทัศน์อันงดงาม
และ๔)ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

สายธารไหลหล่อเลี้ยง………มวลประชา          ลำน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เฉลยบาท๔ว่า ลำน้ำโขง
สายแห่งความเมตตา………..โอบแคว้น          ความโอบอ้อมอารีของคนท้องถิ่น
สายรุ้งพร่างธารา……………..เพชรพุ่ง            ทิวทัศน์อันงดงาม
สายป่านรักแน่นแฟ้น………..ลุ่มน้ำโขงงาม ฯ    ความสามัคคีของคนในชุมชน


แต่ถึงกระนั้น กลับพรรณนาภาพพจน์หรือความเปรียบเบาไป   

สายธารไหลหล่อเลี้ยง………มวลประชา       เนื่องจากเป็นน้ำโขง  ควรเพิ่มปริมาณและความแรง               
                                                   ของสายน้ำโดยเปลี่ยนไหลเป็นหลาก ซึ่งยังแฝงนัยนำพาดิน 
                                                   ตะกอนที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมอีกด้วย

สายแห่งความเมตตา………..โอบแคว้น        แห่ง ความ เป็นคำหน้าที่(function word) ได้แก่
                                                   บุพบท สันธาน อาการนาม ซึ่งสื่อความได้น้อย
                                                   ควรหาคำเนื้อหา(content word) ได้แก่ นาม กริยา
                                                   คุณศัทพ์ วิเศษณ์มาขยายเมตตาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
 
สายรุ้งพร่างธารา……………..เพชรพุ่ง          เปรียบสายรุ้งเป็นแสงเพชรพุ่ง ผู้อ่านอาจนึกภาพ
                                                   ไม่ออกว่า สายรุ้งเป็นแสงเพชรพุ่งได้อย่างไร   

ความเปรียบนี้ อาศัยความช่างคิดสังเกต จึงจะเห็นสิ่งที่คนอื่นมองข้าม  แล้วจึงนำมาเปรียบเปรยด้วยกวีโวหารให้แจ่มกระจ่างลึกซึ้ง 
 

เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย……คงทน
โคเคลื่อนหมุนนำวน……….หมื่นลี้                         หมุนนำวน อ่านไม่เข้าใจ   หมื่นลี้ นึกถึงหนังจีน
บรรทุกสิ่งของคน…………...แทบโก่ง เพลาเฮย          เกวียนคงทน ถึงบรรทุกมาก ก็ไม่น่าแทบโก่ง
ยังแต่กาลบัดนี้……………...เพื่ออ้างงามสงวน ฯ          อ่านไม่เข้าใจ พยายามจับความ  งามสงวน
                                                               คงหมายถึง หญิงสาว  เข้าใจว่า ขณะนี้ กำลังเดินทางไปหาหญิงสาว

ส่วนบทกวีที่เหลือ กล่าวถึงธรรมชาติ ความคิดถึงนาง และการขับลำนำตามลำดับ 
ผู้แต่งสามารถพรรณนาภาพพจน์ได้อย่างเติมที่ตามขนบวรรณคดีไทย  แต่ก็ปรากฏภาพพจน์อยู่ไม่มากนัก


แสงทองทาบทุ่งข้าว………….เรืองวิไล       
นกกล่อมกังวานไกล………….ว่อนคุ้ง                     ว่อนคุ้ง คำเอกโทสดใหม่ ฟังเสนาะหู
เสียงเพลงถิ่นพงไพร………….บอกกล่าว                 บอกกล่าวอะไร  ความหมายไม่ชัดเจน
เป็นสื่อฮักสายรุ้ง……………...แน่นแฟ้นพิสมัย ฯ        สื่อรักสายรุ้ง ความเปรียบไพเราะแต่ไม่สื่อความ


เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ                    ทำไมอุ่นเอื้อ ความหมายไม่ชัดเจน
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ  เพลงแห่งฝัน ไม่น่าเปรียบกับ เชื้อไฟ


มนต์เสียงพิณแผ่วพลิ้ว………..องคุลี
ปานดั่งทิพย์เทพกวี…………….กล่อมย้ำ                  แสดงว่ากล่อมสองครั้ง  ทำไมกล่อมสองครั้ง
สายธารแห่งดนตรี……………..บอกถิ่น เฮาเอย
เพลงคู่พิณหวานล้ำ…………….รุ่งรุ้ง ผงาดแดน ฯ       เข้าใจว่า รุ่งปี ออกอัลบั้มเพลงพิณแล้วรุ่ง


ก่อนอำลาบทวิจารณ์
ผมคิดว่า ผู้ฝึกโคลงควรแต่งโคลงตามกำลังของเรา
ใช้ความเปรียบง่ายๆ เขียนใช้คำที่เราแม่นความหมายไปก่อน
สื่อความแล้วอ่านรู้เรื่อง
วรรคไหนทำสัมผัสอักษรได้ให้ทำทันที
จะสัมผัสในวรรคหรือข้ามวรรคก็ได้ทั้งนั้น
แล้วค่อยเพิ่มความเปรียบเข้าไปตามทักษะที่เพิ่มพูนขึ้น

ขอบคุณเพื่อนนักกลอนทุกท่านที่ทนอ่านโพสต์ข้อเขียนขนาดยาวนี้


 เคารพรัก  เคารพรัก



คนทันคันปากเข้า          วิจักษ์วิจารณ์
ยาวยืดเรื่องรำคาญ         พล่ามบ้า
หวังกวีศึกษาสราญ        ประสบประโยชน์
ผิดเบื่ออภัยทานข้า         ครึ่งรู้ใคร่เขียน


คนทัน

๑๕/๙/๕๕




เพื่อนนักกลอนที่เห็นต่างออกไป โต้แย้งได้เลยนะครับเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ

 เคารพรัก

ขอบพระคุณ ที่กรุณาเยี่ยมชมนะจ๊ะ :

อริญชย์, พี.พูนสุข, ช่วงนี้ไม่ว่าง, ไพร พนาวัลย์, รพีกาญจน์, บูรพาท่าพระจันทร์

ข้อความนี้ มี 6 สมาชิก มาชื่นชม
บันทึกการเข้า

คำ คำ คำ ค่ำ ค้ำ   คำ คำ

Email:
Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
s s s s s