พิมพ์หน้านี้ - เขาว่ากวีตายแล้ว

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => ห้องรวบรวมบทกลอน,บทกวีจากที่อื่น.. => ข้อความที่เริ่มโดย: choy ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 10:55:PM



หัวข้อ: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 10:55:PM
เขาว่ากวีตายแล้ว
ผู้แต่ง: โกศล อนุสิม


เขาว่ากวีนี่ตายแล้ว
พ่อแก้วแม่แก้วช่วยไม่ได้
กวีมอดม้วยมลายไป
จริงเท็จแค่ไหนใครตอบที
 
เขาว่ากวีนี่สูญพันธุ์
สงวนไม่ทันแล้วหรือนี่
โลกช่างใจร้ายไม่ใยดี
ทอดทิ้งกวีให้วอดวาย
 
เขาว่ากวีไม่มีแล้ว
โลกนี้ไม่แคล้วคงฉิบหาย
โลกขาดกวีมีแต่ตาย
วิญญาณอันร้ายต้องเข้ารุม
 
เพราะว่าบุญญาบารมี
เหมือนยันต์กันผีจากทุกหลุม
เมื่อปวงกวีมาชุมนุม
ปัญญาเป็นตุ่มมารวมกัน
 
ผีพาลขลาดเขลาไม่เข้าใกล้
ผีพาลบอดใบ้ไม่กล้าหัน
ผีต่ำสำนึกก็เผ่นพลัน
ผีร้ายกลัวยันต์ท่านกวี
 
เขาว่ากวีนี่สูญพันธุ์
ผีคงสุขสันต์แล้วคุณพี่
ขาดซึ่งบุญญาบารมี
สิ้นยันต์กันผีก็วอดวาย
 
เขาว่ากวีไม่มีแล้ว
โลกคงไม่แคล้วต้องฉิบหาย
เอ๊ะ! บทกวีนี้ใครแต่งลวดลาย
เฮ้ย! กูยังไม่ตาย  กูก็กวี!
 
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑
วันสุนทรภู่ครูกวี


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2013, 11:00:PM
กวีตาย

ใครใครก็ว่า กวีตาย
ล้มลงจมหายในยุคสมัย
โดยมิเคยมีคนไว้อาลัย
กวีจึงปราชัยไปเงียบงัน

ใครใครก็ว่า กวีตายแล้ว
ไม่เหลือเชื้อแนวกวีขวัญ
ศพก็หาไม่เห็นเป็นสำคัญ
จึงร่ำลือกันว่าตายแท้

ตายอยู่กลางป่าอันรกชัฎ
ด้วยความอัตคัดย่ำแย่
ป่าแห่งยุคสมัยอันปรวนแปร
กวีล้มลงแผ่เพราะหมดทาง

ใครใครก็ว่า กวีตาย
เมื่อไร้ความหมายไปทุกอย่าง
ยุคสมัยไม่เห็นค่าจึงละวาง
โดยการทิ้งขว้างกวี

ใครใครก็ว่า กวีตาย
ถึงความวอดวายไม่อาจหนี
หาศพไม่เห็นเป็นการดี
ไม่ต้องมีพิธีศพรบกวนคน

ใครใครก็ว่า กวีตาย
ได้ยินมากมายในทุกหน
คล้ายคล้ายว่าเห็นเป็นมงคล
เมื่อกวีไปพ้นจากแผ่นดิน

ใครใครก็ว่า กวีตาย
ยังดอกยังไม่หายไปหมดสิ้น
ข้าก็กวีหนึ่งจงพึงยิน
ยังไม่สิ้นเสียงกวี-มีพึมพำฯ

โกศล อนุสิม
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: ดาว อาชาไนย ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 09:35:AM
[
font=Angsana New]

เขาว่ากวีนี้คืนชีพ
จงรีบไปหาอย่าพูดพร่ำ
เพื่อนพ้องน้องพี่มีกรองคำ
เลิศล้ำกวีมีมากมาย

มีแต่ตัวเราที่เหงาหงอย
ต่ำต้อยไร้แววกวีฉาย
เป็นเพียงนักกลอนซุ่มซ่อนกาย
อับอายสุดอ้างยังห่างนัก

เป็นกบหลบในกระลาครอบ
เพราะชอบสุขดีแต่มีหลัก
มิเคยสนใจใครไม่รัก
ขอทักกันบ้างไยหมางเมิน

หรือคำกวีที่เคยชื่น
คลายคืนสด้บกลับแกล้งเขิน
ไปหลงลมปากเสียมากเกิน
จึงเดินห่างจนคนละทาง

ดาว อาชาไนย
[/font]


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: Shumbala ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 10:53:AM
กวีตายแล้วสองวันก่อน
กวีซ่อนบางสิ่งทิ้งเมียห่าง
กวีต้องล่วงลับกับมือนาง
กวีแซ่จาง-คนเนี้ยะ-ถูกเมียยิง

 emo_126



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: Shumbala ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 01:22:PM
ได้ยินเสียงประชาไหมกวี??
หรือดนตรีทิพย์สวรรค์นั้นปิดหู
เปิดตามองสองหูฟังสักครั้งดู
คงได้รู้มวลประชาหาโง่งม

เขาสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ
เลือดหลั่งอาบปฐพีที่ขื่นขม
โดยหัตถ์มารเด็ดชีพกลับชื่นชม
หรืออารมณ์เทพกวีมีเลือดทา???

แสงดาวแห่งศรัทธาเหมือนพร่าหม่น
คนเห็นคนไม่ใช่คนหาควรค่า
ไว้อาลัยซากกวีด้วยน้ำตา
จนกว่าฟ้าสีทองจะผ่องพราว


*****

แค่คนเขียนคำไร้ชื่อ

 emo_126


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: hort39 ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 03:18:PM
กวีไหนไหนกวีที่ยังอยู่
เท่าที่รู้ดูไปไม่เป็นข่าว
กวีอยู่หรือตายไร้เรื่องราว
ไม่ใช่ดาวเด่นฟ้ายามราตรี

หรือกวีตายไปจากใจคน
เขาไม่สนไม่แลไม่เผาผี
ตายจากความทรงจำเนิ่นนานปี
รอฟังเสียงกวี...ไร้วี่แวว...

 emo_82


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 09:42:PM
โอ้...อนาถา

เขาเป็นกวีด้วยสระอาอีไอ
สัมผัสกันยกใหญ่ด้วยไออีอา
ใครใครว่ากวีไม่มีราคา
มีแต่ไอ้บ้าติดอาไออี

จาก เหนียม,โอ้...อนาถา,ศิลปวัฒนธรรม,ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ หน้า ๒๙


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: ไพร พนาวัลย์ ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2013, 11:19:PM

emo_111     emo_111      emo_111

ใครหนอว่ากวีนี้ตายแล้ว
หายใจแผ่วผะผ่าวคราวหน้าฝน
พิมพ์หนังสือ“คืนชีพกวี”ดั่งมีมนต์
เพื่อนสองคน “สล่าผิน”ด้วยยินดี

รวมกวีมีมากไม่อยากเล่า
ล้วนหมู่เฮาชาวกลอนวอนเร็วรี่
แต่จริงแล้วไม่ถึงขั้นชั้นกวี
เพียงแต่มีหัวใจไร้พรมแดน

ใครหนอว่ากวีนี้ตายแล้ว
เชิญเพื่อนแก้วค้นหามาควงแขน
“สล่าผิน”คงมอบไว้ตอบแทน
ไว้ให้แฟนสัมพันธ์ที่หันมอง emo_56

“ไพร พนาวัลย์”


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: panthong.kh ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 06:30:AM
emo_89
กระวีกระวาด มาตอบ ด้วยชอบอก
กระตกกระตาก มากมี หรี่ตาส่อง
กระย่องกระแย่ง ตื่นมา ตาจ้องมอง
กระร่องกระแร่ง แย่งซีน แอบปีนเกลียว

จะเหน็ดจะเหนื่อย เฉื่อยชา อย่าว่าฉัน
จะดุจะดัน วันนี้ อาจมีเบี้ยว
จะตามจะติด คิดมาก ลำบากเชียว
จะแลจะเหลียว มองเด่น เห็นกวี (กวีที่ว่า  คือ กวี ตันจรารักษ์จ้า)
พันทอง
 emo_89


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: สล่าผิน ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2013, 07:26:PM

กวีมิขาดจากใจมนุษย์
อาจหยุดแต่งบ้างบางวิถี
ดิ้นรนขวนขวายสายทางมี
ทั้งนี้กวีอยู่คู่กับใจ

เมื่อคราฝ่างานการหน้าที่
กวีก็งอกออกมาได้
ช่วงว่างวางคำลำนำไป
เพราะไม่คิดจบกลบคำคม

ขณะทำกรำงานแอบสานถัก
เพราะรักอักษราหาเพาะบ่ม
คำนั้นบวกคำนี้มีอารมณ์
ผสมกันได้ไม่อับจน

สล่าผิน


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 09:48:AM
โว้...มิอนาทร

เขาเป็นกวีด้วยสระอีอาไอ
สัมผัสกันยกใหญ่ด้วยไออีอา
ใครใครว่ากวีไม่มีราคา
มีแต่ไอ้บ้าติดอาไออี*


(อ้างถึง)

คมคำ ‘เหนียม’ บอกโอ้อนาถา
กวีอีไออาบ้าสัมผัสกันยกใหญ่
ไร้ราคามิควรค่ากวีใด
สิ้นความหมายสิ้นค่าราคากวี

ขอคารวะสักจอกบอกโว้มิอนาทร
ด้วยทูนฟ้อนฉันทลักษณ์บรรณศรี
งายงมเสพกานท์กรองไออาอี
พร้องยินดีเป็นไอ้บ้าค้ำทูนใจ

มิคิดขึ้งใครใครเขาดอกหนา
วาสนามิอาจเอื้อมซีไรต์
หมายซีฟู้ดแพงเหลือ (บาทเงิน) บาดใจ
กุลีคำเอื้อมได้แต่ไออีอา

ย้อนแต่ครั้งวุ่นวายละอ่อนวัย
ลุ่มหลงกลอนพระอภัยหนักหนา
คมคำกลอนสุนทรภู่ทูนบูชา
แอบแต่งเลียนลอกมาอยู่ประจำ

ชั้นกลอนครูสัมผัสละเมียดละไม
สัมผัสนอกสัมผัสในเลิศล้ำ
สัมผัสสระสัมผัสเสียงสัมผัสคำ
จึงกรานไหว้ลำนำสุนทรกวี

กุลีคำมิขึ้งใครในจริต
มิจ้วงสิทธิ์ใครเปลือกใครกระพี้
กลอนเปล่า (เปลือย) หรือไออาอี
ใจยินดีเสพดื่มเสมอกัน

กุลีคำวาสนาไกลซีไรต์
หมายซีฟู้ดแพงไปใจท้อหวั่น
อาไออีเพื่อนแท้เข้าใจกัน
จึงยืนยันขอเป็นกวีอีอาไอฯ

สนอง เสาทอง
8 กุมภาพันธ์ 56
อินทามระ 10


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: panthong.kh ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 10:17:AM
(http://image.ohozaa.com/i/807/vtotOt.gif) (http://image.ohozaa.com/view2/wDsOyVZDasem0n7q)
จะกระพี้ หรือแก่น หากแน่นหนัก
สักวันควัก เปลือกออก ลอกกระพี้ได้
ข้างนอกผุ ในผ่อง เป็นยองใย
หุ้มเอาไว้ ไม่อวด ให้ปวดทรวง

คารวะ  เป็นไห ไหมเล่าท่าน
รีบจัดสรรค์ ปันส่วน สวนมะม่วง
ปูเสื่อเข้า เหล้าซด หมดทั้งยวง
ไฮโลพ่วง ท้ายมา อย่าว่ากัน

ยกเหล้าซด หมดไห ใจเกินร้อย
เห็นช้างพลอย ว่าหมู ขู่เสียงลั่น
ฉันแทงสูง ยักลงต่ำ ช้ำจาบัลย์
ดังสนั่น สวนมะม่วง ช่วงสองยาม

ยักไม่จ่าย หลายครั้ง ระวังไว้
ยักของใคร ไม่หวั่น ฉันขอห้าม
เดี๋ยววงแตก แหวกหนี พี่หมวดตาม
ตอนตีสาม ใส่ตีนผี หนีลูกเดียว
พันทอง
(http://image.ohozaa.com/i/807/vtotOt.gif) (http://image.ohozaa.com/view2/wDsOyVZDasem0n7q)


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: Thammada ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 10:21:AM
(http://3.bp.blogspot.com/_1Z5_frqW26w/SiKopty0GZI/AAAAAAAAGAA/tx_PnLdYap8/s400/2266129450104237032S600x600Q85.jpg)

" แม่ "(ข้ามขอบฟ้า)

ดื่นดึกหนาว ดาวเด่น เย็นยะเยียบ
เสียงความเงียบ เสียดแทง ในแท่งหิน
ล้อแห่งกาล ผ่านเลื่อน เหมือนโบยบิน
เสียงแม่ดิน รินร่ำ คำห่วงใย

แม่โอบเอื้อ เผื่อแผ่ แก่ลูกสิ้น
อกแม่ดิน ตระหนี่ เคยมีไหม
หากลูกรัก รักคืน แม่ชื่นใจ
แม้ลูกไหน ไม่รัก ไม่หักราน

ในรวงข้าว แม่ผสม นมอร่อย
ในลำอ้อย แม่ผสม น้ำนมหวาน
กลีบดอกเอื้อง แม่แต่ง สีแบ่งบาน
ชูช่อก้าน คลี่พวง ยวงระย้า

เรียงลำไผ่ แม่สอน ให้อ่อนพลิ้ว
ขับเพลงผิว แผ่วกล่อม ถนอมป่า
หยาดน้ำค้าง พร่างแพรว แนววนา
คือน้ำตา เต็มตื้น แม่ชื่นชม

ขอลูกผอง ของแม่ แผ่ความรัก
ร่วมทอถัก แทนแพร ให้แม่ห่ม
คุ้มแรงร้อน ผ่อนแสง ร้อนแรงลม
หยุดเคืองข่ม งอแง รังแกกัน

ประพันธ์โดย : อาจารย์มะเนาะ ยูเด็น



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: ไร้นวล^^ ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2013, 11:42:AM
 
emo_126 emo_126 emo_126

๐ตราบเสียงกล่อมกระบวรล้วนสยาม
ตราบคำถามถ้อยสื่อคือไทยขวัญ
ตราบสำเนียงเรียงร่ายประกายพรรณ
ตราบเมื่อนั้นกวียังมีมา

๐พลิ้วแผ่วเพลงภาษณ์พงศ์ดำรงลักษณ์
พลิ้วเพลินรักรมย์เห่เสน่หา
พลิ้วพจน์เพริศเพลินบทรจนา
พลิ้วลีลากวีเกินลี้ลง

๐หากยังมีมัจฉาสาคเรศ
พนาเวศน์คุ้มวิหคโอบอกหงส์
ภุมรินถวิลกลิ่นบุษบง
กวีคงยังอยู่เป็นครูความ

๐ฉันก็เพียงเพียรพร่ำเพราะคำสอน
ฝึกกลั่นกลอนหวังผ่องสักสองสาม
เพื่อระลึกตรึกค่าภาษางาม
อันสยามกวินทร์ประพิณพรม
(http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_054.gif) (http://www.klonthaiclub.com)


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2013, 04:52:PM
หากโลกสิ้นกวี

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
มวลบุปผชาติมาลีคงเจียมค่า
ไร้ซึ่งกวีเชยชื่นพร่ำพรรณนา
ปวงบุปผาคงเขียมบานไร้ใครมอง

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
เถื่อนไศลผาวนาลีคงค่าหมอง
ไร้ซึ่งกวีรจนาแปรค่าทอง
อย่างช่ำชองชวนพินิจพิสดาร

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
มหานทีชเลสินธุ์คงสิ้นสาส์น
ไร้ซึ่งกวีแปรถ้อยร้อยพจน์กานท์
เพื่อขับขานบึ้งวิญญาณชลาลัย

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
ท้าวสุรีย์คงหม่นสิ้นสูรย์สาย
ไร้ซึ่งกวีด่ำดื่มแสงเช้ากราย
อีกแดดบ่ายเคลื่อนขับย่ำอัสดง

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
ม่านราตรีเดือนดวงคงหลับหลง
ไร้ซึ่งกวีเตือนย้ำ ข้างขึ้น-แรมลง
ทิ้งดาริกาเฝ้าโยงอยู่ดายเดียว

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
เคียวรุ้งคงทอสันสีฝืนห่อเหี่ยว
ไร้ซึ่งกวีปลอบประโลมและยาเยียว
เมฆคงเศร้าเปล่าเดี่ยวไม่แผกกัน

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
พงศ์สกุณีแมลงไพรคงโศกศัลย์
ไร้ซึ่งกวีนั่งสดับสำเนียงจำนรรจ์
วิหคก็พลันงดบรรเลงมโหรีไพร

หากโลกนี้ขาดสิ้นกวีศรี
ความจริง-ความงาม-ความดี อยู่ไฉน
ไร้ซึ่งกวีแปรค่ามาวางราย
คงหล่นหายจมเท้าจ้าวโลกีย์ฯ

สนอง เสาทอง
8 กุมภาพันธ์ 56
อินทามระ 10


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013, 12:15:AM
กวีไม่ใช่ศาสดา

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
มวลตฤนชาติดอกดินใช่เจียมค่า
แม้ไร้กวีครวญคร่ำพรรณนา
ปวงบุปผายังคงบานวิรงรอง

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
เถื่อนไศลผาโขดหินมิสิ้นหมอง
แม้ไร้กวีรจนาแปรค่าทอง
ยังชวนมองวิสุทธิ์พิจิตรตระการ

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
มหานทีชเลสินธุ์ยังสืบสาน
แม้ไร้กวีแปรถ้อยร้อยเพ็ญกานท์
ปวงวิญญาณสาครยังเคลื่อนไหล

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
ท้าวสุรีย์ยังเร่ารินแสงสูรย์สาย
แม้ไร้กวีด่ำดื่มแสงเช้ากราย
ยังกราดแสงแดดบ่ายไคลอัสดง

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
เดือนดวงยังมิผินไพล่หลับหลง
แม้ไร้กวีเตือนย้ำ ข้างขึ้น-แรมลง
โสมเฝ้าโยงมิทิ้งดาวให้ดายเดียว

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
เคียวรุ้งยังมิถวิลฝืนห่อเหี่ยว
แม้ไร้กวีอ้อนประโลมและยาเยียว
รุ้งและเมฆไม่เปล่าเดี่ยวพร้องคู่กัน

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
พงศ์สกุณินแมลงไพรยังเครงฝัน
แม้ไร้กวีหนีลับไปกัปกัลป์
ยังประเลงครื้นครั่นดนตรีไพร

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
ค่าความจริง-งาม-ดี-ไปสิ้นร้าย
แม้ไร้กวีแปรค่ามาวางราย
คิดเองได้กวีใช่พระศาสดาฯ

พัชรวี  หอมเนียม

เกษตรศาสตร์

บางเขน

11 ก.พ. 56


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 02 มีนาคม 2013, 08:12:AM
โลกย่อส่วน...
(เสมือนคำนำผู้เขียน)

โดยไม่รู้ ว่าโลกนี้ มีกวี
เราก็มี "อารมณ์กวี" ที่รู้สึก
ระหว่างวัย ดงดอกไม้ ไหวระลึก
ระหว่างบรรทัด บทบันทึก ที่ลึกซึ้ง

โดยไม่รู้ ว่าโลกนี้ มีดนตรี
เราก็มี "อารมณ์สุนทรีย์" ที่รักและคิดถึง
ด้วยคำร้อง ทำนอง ของคำนึง
ฝากเพลงไหน เพลงหนึ่ง ถึงใจนั้น

พลังเพลง พลังกวี พลังชีวิต
พลังจิต พลังจริง พลังฝัน
โลกนี้ ช่างแสน มหัศจรรย์
แม้ห่างกัน ก็พบกัน บันดาลใจ

ท่ามกลาง แปลกหน้า แหละคุ้นหน้า
พลังรัก พลังศรัทธา ยังยิ่งใหญ่
เพลงกวี ประคองหวัง ของเราไว้
สำหรับให้ สำหรับรับ สำหรับรัก!


ไพวรินทร์ ขาวงาม
โลกย่อส่วน... (เสมือนคำนำผู้เขียน), ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต, กรุงเทพฯ, แพรวสำนักพิมพ์, 2553


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 03 มีนาคม 2013, 11:57:AM
กวีไม่ใช่ศาสดา

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
มวลตฤนชาติดอกดินใช่เจียมค่า
แม้ไร้กวีครวญคร่ำพรรณนา
ปวงบุปผายังคงบานวิรงรอง

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
เถื่อนไศลผาโขดหินมิสิ้นหมอง
แม้ไร้กวีรจนาแปรค่าทอง
ยังชวนมองวิสุทธิ์พิจิตรตระการ

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
มหานทีชเลสินธุ์ยังสืบสาน
แม้ไร้กวีแปรถ้อยร้อยเพ็ญกานท์
ปวงวิญญาณสาครยังเคลื่อนไหล

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
ท้าวสุรีย์ยังเร่ารินแสงสูรย์สาย
แม้ไร้กวีด่ำดื่มแสงเช้ากราย
ยังกราดแสงแดดบ่ายไคลอัสดง

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
เดือนดวงยังมิผินไพล่หลับหลง
แม้ไร้กวีเตือนย้ำ ข้างขึ้น-แรมลง
โสมเฝ้าโยงมิทิ้งดาวให้ดายเดียว

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
เคียวรุ้งยังมิถวิลฝืนห่อเหี่ยว
แม้ไร้กวีอ้อนประโลมและยาเยียว
รุ้งและเมฆไม่เปล่าเดี่ยวพร้องคู่กัน

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
พงศ์สกุณินแมลงไพรยังเครงฝัน
แม้ไร้กวีหนีลับไปกัปกัลป์
ยังประเลงครื้นครั่นดนตรีไพร

หากโลกนี้ไร้กวีไปหมดสิ้น
ค่าความจริง-งาม-ดี-ไปสิ้นร้าย
แม้ไร้กวีแปรค่ามาวางราย
คิดเองได้กวีใช่พระศาสดาฯ

พัชรวี  หอมเนียม

(อ้างถึง)

คนกวีอาจใครนั้น

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
พร่ำจำนรรจ์อ้อนโลมโฉมบุปผา
อยู่วี่วันดอมดมหอมสุคนธา
แปรหอมผกาถักถ้อยร้อยหอมกรอง

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
อยู่เงียบงันซ่อนหลืบเถื่อนผาช่อง
เสพมนตราภูวนาอันรังรอง
เสกคำนองบำเหน็จก่องเก็จกานท์

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
อย่างดื้อรั้นฝันล่องท้องชลหาร
อยู่อย่างนั้นเงียบเงียบคล้ายดักดาน
กำซาบซึ้งวิญญาณชเลนัย

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
ผู้บากบั่นรอแสงเช้ารวีร่าย
แล้วจิบดื่มเพรื่อพร่ำอยู่ร่ำไร
กรีดน้ำตาอาลัยใกล้อัสดง

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
คอยคืนจันทร์เต็มจันทร์มิหลับหลง
แม้คืนแรมศศิธรมิค้างคง
ยังแรมโยงชื่นดาวอยู่เปล่าเดียว

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
ถักทอฝันโค้งรุ้งเคียวใจเกี่ยว
โน้มรุ้งงามจูบดินเพื่อยาเยียว
มิให้เหงาซึมเซียวเกลียวเวิ้งนภา

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
สำเริงสนานสดับรื่นดนตรีปักษา
ปีเดือนวันคลาผ่านธารเวลา
ยังโหยหาส่ำเสียงสำเนียงไพร

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
ใช่ศาสดาอาตมันยิ่งใหญ่
เพียรฝึกตนไถ่พ้นกิเลสอบาย
ร้อยกวีกานท์สืบสายวิญญาณกวินทร์ฯ

สนอง เสาทอง
28 กุมภาพันธ์ 56
อินทามระ 10



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 04 มีนาคม 2013, 04:07:PM
คนกวีอาจใครนั้น

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
พร่ำจำนรรจ์อ้อนโลมโฉมบุปผา
อยู่วี่วันดอมดมหอมสุคนธา
แปรหอมผกาถักถ้อยร้อยหอมกรอง

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
อยู่เงียบงันซ่อนหลืบเถื่อนผาช่อง
เสพมนตราภูวนาอันรังรอง
เสกคำนองบำเหน็จก่องเก็จกานท์

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
อย่างดื้อรั้นฝันล่องท้องชลหาร
อยู่อย่างนั้นเงียบเงียบคล้ายดักดาน
กำซาบซึ้งวิญญาณชเลนัย

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
ผู้บากบั่นรอแสงเช้ารวีร่าย
แล้วจิบดื่มเพรื่อพร่ำอยู่ร่ำไร
กรีดน้ำตาอาลัยใกล้อัสดง

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
คอยคืนจันทร์เต็มจันทร์มิหลับหลง
แม้คืนแรมศศิธรมิค้างคง
ยังแรมโยงชื่นดาวอยู่เปล่าเดียว

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
ถักทอฝันโค้งรุ้งเคียวใจเกี่ยว
โน้มรุ้งงามจูบดินเพื่อยาเยียว
มิให้เหงาซึมเซียวเกลียวเวิ้งนภา

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
สำเริงสนานสดับรื่นดนตรีปักษา
ปีเดือนวันคลาผ่านธารเวลา
ยังโหยหาส่ำเสียงสำเนียงไพร

เขาและเธอคนกวีอาจใครนั้น
ใช่ศาสดาอาตมันยิ่งใหญ่
เพียรฝึกตนไถ่พ้นกิเลสอบาย
ร้อยกวีกานท์สืบสายวิญญาณกวินทร์ฯ

สนอง เสาทอง


(อ้างถึง)

เธอและเขาคนกวี

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
มิพรั่นท้อน้ำใจงามพราวค่า
ทวนกระแสยุคสมัยทุนโลกา
ปวารณาตนศรัทธาวิถีกรอง

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
มิระย่อลำบากทิ้งหับห้อง
รอนภูไพรไล่คว้าฝันรังรอง
กลั่นทำนองรื่นเสนาะคีตกานท์

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
อยู่จดจ่อคลื่นเห่ชเลม่าน
อยู่อย่างนั้นไม่เบื่อและรำคาญ
เพื่อซึมสร้านวิญญาณชลาลัย

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
ผู้ทนอยู่เฝ้ารอสูรย์แรกสาย
จิบดื่มไหมหมอกเช้าละเมียดละไม
และละเลียดแสงสุดท้ายอัสดง

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
ขึ้นหรือแรมมิท้อและหลับหลง
ใจพูนภักดิ์เดือนดาวอยู่มั่นคง
ทุกค่ำคืนเฝ้าโยงอยู่ดายเดียว

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
เฝ้าพะนอรุ้งลออเคียวใจเกี่ยว
ปลอบประโลมเยียวใจหายซมเซียว
บนทางเทียวโค้งฟ้ามรคา

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
อ้ออี๊ออเพลินเสียงซอปักษา
อีกส่ำเสียงมโหรีแมลงพนา
เริงชีวาเสพร่ำคอนเสิร์ตไพร

เธอและเขาคนกวีเช่นนี้หนอ
มิฉลฉ้อค่ามนุษย์ยิ่งใหญ่
และปล่อยวางกิเลสโลกีย์อบาย
เพื่อสืบสายเชื้อพันธุ์กวีพงศ์ฯ

พัชรวี หอมเนียม
3 มีนาคม 56
กำแพงแสน


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 04 มีนาคม 2013, 05:57:PM
เจียระไนแก้วมณีแห่งชีวิต


   หากชีวิตว่างแล้ง         มโนธรรม
จักจ่อมตายหายจำ            ไป่ได้
มดปลวกที่ถึงกรรม            สูญเปล่า
โลกไม่รู้จักไซร้               หม่นไหม้เวรมหันต์ฯ

   น้ำใจคือหลั่งฟ้า         สายฝน
เมฆอยู่เมืองบน            หล่นหล้า
ไมตรีชื่นใจคน               ทั้งโลก
โศกเร่งหายภายหน้า            แกร่งกล้าถวายขวัญฯ

   เกิดมาเพื่อจ่ายหนี้         ธรณี
ค้างค่าโพธิสัตว์ศรี            ส่วยแก้ว
อุปการซึ่งโลกมี            แด่มนุษย์ นั้นมา
คืนค่าสังคมแล้ว            พร่างแพร้วมณีศิลป์ฯ

   ตื่นแต่ดึกนั้น            วันคืน
สั้นแต่ยาวอายุยืน            หมื่นข้าว
อ่านเขียนแต่งโคลงฝืน            จนสว่าง
ตนตื่นถึงพุทธเจ้า            รุ่งเร้าพลังขลังฯ

   หลับตาหัวค่ำข้าม         อุษาโยค
ยาวแต่สั้นอายุโศก            เสื่อมสั้น
อวิชชาเร่งอปโลกน์            กิเลสโลก นานา
ตกหล่มตนดื้อรั้น            ร่วงแล้งพลังสลาย  ฯ@ฯ

   ใจใครเหลวไหลฆ่าเวลา
เล่ห์ฆ่าวิชาทำสูญหาย
ขาดงานอมตะค่าแพรวพราย
จะตายอย่างสุนัขเน่าเปล่าไปฯ

   กระแสเวลาสายวารี
ระเรื่อยรี่ไหลคอยใครไฉน
สิ่งสุนทรีย์ไม่มีสถิตใจ
อวิชชาใหม่ทาสเก่างั่งงมฯ

   งกโลภอะไรในโลกนี้
รีบปล้นจี้ฝากป่าช้าสะสม
แต่แสงรุ้งหรือจะเปื้อนโคลนตม
ชื่นปราชญ์ขมก็หวานญาณปัญญาฯ

   นั่นอเวจีนี่พระพุทธเจ้า
ค่ำเช้าเพ่งคิดธรรมปฤศนา
ตื่นดึกดื่นเรียนค่าเวลา
ยืดค่าชีวายืนหมื่นปี

   เร่งเพียรเขียนกาพย์กลอนโคลงฉันท์
กำนัลโลกเลิศประเสริฐศรี
เพื่อมนุษย์มั่วคุณงามความดี
ปฐพีเป็นสวรรค์นิรันดร ฯ@ฯ   

อังคาร กัลยาณพงศ์
เจียระไนแก้วมณีแห่งชีวิต, ปณิธานกวี, พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : ศยาม, 2554, pp61-63



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 04 มีนาคม 2013, 06:35:PM
ปณิธานกวี


ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร
แสนวิสุทธิ์โลกนี้ที่พระสร้าง
สุดท้ายกายวิภาคจะจากวาง
ไว้ระหว่างหล้าและฟ้าต่อกันฯ

เรามิใช่เจ้าของฟ้าอากาศ
โลกธาตุทั่วสิ้นทุกสรวงสวรรค์
มนุษย์มิเคยนฤมิตตะวันจันทร์
แม้แต่เม็ดทรายนั้นสักธุลีฯ

แย่งแผ่นดินอำมหิตคิดแต่ฆ่า
เพราะกิเลสบ้าหฤโหดสิงซากผี
ลืมป่าช้าคุณธรรมความดี
เสียศรีสวัสดิ์ค่าแท้วิญญาณฯ

สภาวะสรรพสิ่งทุกส่วนโลกนี้
ควรที่สำนึกค่าทิพย์วิเศษวิศาล
อนุรักษ์ดินน้ำฟ้าไว้ตลอดกาล
เพื่อเหนือทิพยสถานวิมานแก้วไกวัลฯ

ทุ่งนาป่าชัฏช้าอรัญญิกาลัย
เทือกผาใหญ่เสียดดาวดึงส์สวรรค์
เนื้อเบื้อเสือช้างลิงค่างนั้น
มดแมลงนานาพันธุ์ทั้งจักรวาลฯ

เสมอเสมือนเพื่อนสนิทมิตรสหาย
เกิดร่วมสายเชี่ยววัฏฏะสังสาร
ชีพหาค่าบ่มิได้นับกาลนาน
หวานเสน่ห์ฟ้าดาราลัยฯ

ถึงใครเหาะเหินวิมุติสุดฝั่งฟ้า
เดือนดาริกาเป็นมรคายิ่งใหญ่
แต่เราขอรักโลกนี้เสมอไป
มอบใจแด่ปฐพีทุกชีวาวายฯ

จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน
จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย
แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย
ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาลฯ

เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์
ที่สุดยุคสุขเกษมศานต์
วารนั้นฉันจะป่นปนดินดาน
เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมอง
๑๐
สิ้นเสน่ห์วรรณศิลป์ชีวิตเสนอ
ละเมอหาค่าทิพย์ไหนสนอง
อเนจอนาถชีวีทุกธุลีละออง
สยดสยองแก่ถ่านเถ้าเศร้าโศกนักฯ
๑๑
แล้งโลกกวีที่หล้าวูบฟ้าไหว
จะไปรจนารุ้งมณีเกียรติศักดิ์
อำลาอาลัยมนุษยชาติน่ารัก
จักมุ่งนฤมิตจิตรจักรวาลฯ
๑๒
ให้ซึ้งซาบกาพย์กลอนโคลงฉันท์
ไปทุกชั้นอินทรพรหมพิมานสถาน
สร้างสรรค์กุศลศิลป์ไว้อนันตกาล
นานช้าอมตะอกาลิโก ฯ@ฯ


อังคาร กัลยาณพงศ์
ปณิธานกวี, ปณิธานกวี, พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ, ศยาม,2554, pp9-11

***ขออภัยต่อสมาชิกฯ ทุกๆ ท่าน ครั้งก่อนโพสต์ไปคู่กับบทกวีของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คู่ควรอย่างยิ่ง จึงขอแก้ไขใหม่ดังที่เห็นอยู่นี้
choy


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 05 มีนาคม 2013, 11:16:AM
กุลีปรุงอักษร

กุลีปรุงอักษร
กรรมกรในสวนบรรณ
แบกคำป่ายโตรกฝัน
ในเชิงชั้นถักร้อยความ

ง่ายงามในวิถี
มิยินดียินร้ายตาม
กระแสสังคมทราม
ในนิยาม-ทุนโสมม

สมถะในพอเพียง
อาบดื่มเลี้ยงกายอารมณ์
เจียมตน-เขียมใจงม
มิกรานก้ม-ทุนสามานย์

ออมจิตมิปลื้มหลง
ในคอกกรง-ศฤงคาร
หมุดหมายจิตวิญญาณ
พอประมาณ ใน-อยู่-เป็น

เสพรื่นใจกาพย์กานท์
รื่นดวงมานดั่ง อยู่-เห็น
รื่นใด-สงบเย็น
เฉกดังเช่น-ใจละวาง

พอเพียงในฤดี
ดุจกุลี-เช่นวัวต่าง
แบกคำมาปรุงวาง
บนเถื่อนทางวิญญาณกวีฯ

สนอง เสาทอง
26 มิถุนายน 2555
อินทามระ 10 

***ขออภัยอีกครั้ง เป็นของเก่าที่โพสต์ไว้แล้ว (ไปซ้อนกับบทอื่น) เลยนำมาโพสต์ใหม่
choy
5 มีนาคม 56


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 05 มีนาคม 2013, 07:38:PM
โลกและกวี
(ยุคทุนนิยมเสรีใหม่)

มนุษยชาติอหังการกเฬวราก
เชื้ออุบาทว์กักขฬะอุตริแสน
ชั้นอากาศมหาสมุทรสุดดินแดน
อีกสวรรค์เมืองแมนซื้อ-ขายครัน

มนุษย์สมัยทุนนิยมเสรีใหม่
แบ่ง (คลื่น) อากาศขายกำไรสนั่น
คลื่นทีวีวิทยุมือถือ, ซื้อสัมปทาน
นภดลวิศาลนั้นถูกจับจอง

แม้บาดาลมิพ้นมือมนุษย์บ้า
มหาสมุทรกว้างกว่า, มีเจ้าของ
น้ำมันดิบแก๊สธรรมชาติต่างถือครอง
ซื้อ-ขายจอง, ขุดเจาะเคาะกำไร

แม่ธรณียิ่งพรหมเกียรติศักดิ์
มนุษยชาติปักเขตหลักซื้อขายได้
ปั่นราคาเก็งค่าแปรธาตุไป
อกตัญญูเวไนยบัวใต้ตม

แต่ชั้นอินทร์ดาวดึงส์ฟ้าสวรรค์
ยังแผลงคิดขายกันอยู่เกลื่อนขรม
โมทนาบัตร-เสบียงบุญ, ใครนิยม
จองสวรรค์ซื้อสะดมสะสมบุญ

แม้แต่ดารานิศากรโพยมหน
ยังร้อนรนหวั่นสะทกอยู่ว้าวุ่น
ไม่นานช้าถูกแปลงค่าเป็นทุน
ขึ้นกระดานหุ้น, ซื้อ-ขายปั่นราคา

ถึงชั้นท้าวทินกรยังอ่อนฤทธิ์
ในเอื้อนอิดบทจรเหนือเวหา
ร้อนรุ่มอาสน์กริ่งมนุษย์ทรงฤทธา
เบียนบีฑา, ซื้อ-ขายสุริยจักร

โลกวันนี้แม้กวียังขลาดฝัน
กลัวถูกปั่นซื้อ-ขาย, พจน์ทองวรรค
แบกะดิน, ไร้ค่า-อนาถานัก
สิ้นศรีศักดิ์วรรณศิลป์ทิพย์สวรรค์ฯ

สนอง เสาทอง
สุขสนาม
สุรินทร์
5 มีนาคม 56

***ทุนนิยมเสรีใหม่ (newly-capitalism) เป็นสกุลแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่คิดค้นพัฒนาโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ชื่อกลุ่ม Chicago's boy ซึ่งมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุน (ทรัพย์สิน) ที่สามารถซื้อขายได้ อาทิ นอกจากวัตถุสิ่งของแล้ว คน, ความคิด, ความรู้ความสามารถ (ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่นกรณี ลูกของเดวิด เบ็กแฮม ก็ยังถูกตีราคาซื้อขายกันในอนาคตว่าจะต้องเก่งเหมือนพ่อ), การซื้อขายในอนาคต (การซื้อขายเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า) และอื่นๆ อีกมากมาย สกุลแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในยุคประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ เป็นแนวคิดในการจัดระเบียบโลกใหม่ (new order) ถูกใช้ในยุคสมัยเราอยู่ในขณะนี้ (ผ่าน WB, IMF และ WTO) ที่มักเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคการค้าไร้พรมแดน ทั้งการค้าเสรี, ตลาดเสรี ฯลฯ +สนอง เสาทอง+



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 06 มีนาคม 2013, 11:49:PM
ตามเยี่ยงอย่าง
แก้วมณีแห่งชีวิต


เสถียร สถิตคุณค่าแท้         แด่มนุษย์ โลกนา
โกเศศ วิเศษแก่นวิสุทธิ์            สิ่งแก้ว
นาคะ ทิพย์ร่ายพระพุทธ            มนตร์มิ่ง เปรียบฤา
ประทีป สวรรค์สว่างแพร้ว         พร่างฟ้า วรรณศิลป์ฯ

พรหมินทร์กินงอกง้วน            ดินหอม ก็ดี
บุปผชาติอาจตรมตรอม            อกไหม้
อักขระน่าทนุถนอม            ยิ่งกว่า
เก็บแก่นไตรปิฎกได้            ค่าล้ำโลกสามฯ

งามวรรณศิลป์ไป่สิ้น            สุคนธรส
ฤาค่าอมตะหอมหมด            โลกม้วย
วิญญาณยิ่งเกียรติยศ            คงอยู่
คู่แผ่นฟ้าดินด้วย               ตราบไร้นิรพานฯ

ชะเอมอ้อยร้อยสิ่งซึ้ง         วิเศษหวาน ก็ดี
ครู่หนึ่งอันตรธาน         เปื่อยไร้
วรรณศิลป์อยู่คู่กาล         กับโลก
แล้วไม่หวานชีพไว้         เพื่อได้ทิพย์ไฉนฯ

อักขระฤาเสื่อมสิ้น      ศิลปะศาสตร์
สองท่านชีวิตปราชญ์         เปรื่องแพ้ว
มรคานั่นวิสุทธิ์สะอาด         อิ่มทิพย์
ทางแห่งดวงแก้ว            แม่นแล้วอัญชลีฯ

กี่โกฏิปีกี่ม้วย         อนันตกาล ก็ดี
ใหม่เอี่ยมวรรณศิลป์หวาน      เลิศแล้ว
ลายสือสื่อวิเศษงาน         แห่งทิพย์
ตามท่านเถิดเพริศแพร้ว         พร่างรุ้งมณีสมัยฯ

ใดใดในโลกล้วน         อนิจจัง ก็ดี
จริงแต่นามอุโฆษดัง         คู่หล้า
ชีวิตปราชญ์เลิศขลัง         อมตะ ตามเทอญ
เยี่ยงอย่างมณีระยับฟ้า         เฟื่องฟุ้งไอศวรรย์ฯ

อาถรรพณ์ขวัญเปี่ยมด้วย   งามดี
ปราดเปรื่องแววรุ้งมณี         คู่ฟ้า
วรรณศิลป์ค่าวิเศษศรี         สูงส่ง
ชุบชื่นหลายชาติหน้า         นิ่งพริ้งเหนือสมัยฯ

ไหวชีวิตอุทิศแด่หล้า      คณะมนุษย์
ตามเยี่ยงอย่างมหาบุรุษ         เก่งกล้า
ทางทิพย์แห่งจิตรวิสุทธิ์         วิเศษยิ่ง
คือสิ่งประเสริฐเลิศฟ้า         กว่าได้มไหศวรรย์ฯ
๑๐
ชีวิตนักปราชญ์ซึ้ง      กินใจ
พิมพ์อยู่วิญญาณไป         โลกหน้า
ปัญญาแก่นทิพย์ใน         มิ่งมนุษย์
ถือหนึ่งพึงขลังกล้า         เพื่อฟ้าเกษมสมัยฯ
๑๑
อุทิศดวงใจแด่หล้า         อาถรรพณ์
เทิดค่าวรรณศิลป์สวรรค์         เพริศแพร้ว
อยู่คู่พุทธธรรมอัน         อมตะ
สถิตค่าสองปราชญ์แก้ว         ไป่แล้วอัญชลีฯ
๑๒
ปากกากว่าปากแก้ว         กายสิทธิ์
อยู่เพื่อโลกนิมิต            ไม่แล้ว
กุศลศิลป์ส่งสัมฤทธิ์         เรืองรุ่ง
ปรุงค่ามนุษย์เพริศแพร้ว         พรุ่งพริ้งอนันตกาลฯ

อังคาร กัลยาณพงศ์
ตามเยี่ยงอย่าง แก้วมณีแห่งชีวิต, ปณิธานกวี, พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : ศยาม, 2554, pp95-97

*ขอบคุณ Ghost trick ที่ช่วยชี้เตือนคำผิดให้ "งาม" ตอนนี้เปลี่ยนเป็น "งาน" แล้ว



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 07 มีนาคม 2013, 02:35:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
(๑)

โคลง
(๑)
ชั้นแต่มนุษย์แก่นซึ้ง         ศิลป์บรรณ
ปวงกวินทร์ลิขิตฉันท์         ห่อนร้าง
พิสุทธิ์กรองกลอนวรรณ         แก้วทิพย์
ชั้นแต่มนุษย์หอมสร้าง         เพริศแพร้วบรรณศิลป์ฯ

ฉันท์
(๒)
หอมศรีเพ็ญศิลป์         ทั่วถิ่นทศทิศ
พิสุทธิ์พิจิตร            หอมซึ้งกำซาบ
ก่องเก็จกานท์กล            หลั่งท้นแก้วกาพย์
โบกฉันท์ทองฉาบ            งามสรรรุ้งศิลป์ฯ*

กาพย์
(๓)
เสมอชั้นนรชาติ         รู้พิลาสวรรณศิลป์
ชุบชื่นอารมณ์วิญญ์         เสพดื่มกินโคลงกาพย์ฉันท์
ร้อยกรองประทีปกานต์         เร่งเจือจานและแบ่งปัน
หอมกานท์ชั้นทิพย์สวรรค์         เวไนยนั้นฤาห่อนมีฯ**

กลอน
(๔)
เสมอแต่ชั้นเผ่าพงศ์นรชาติ
จึงรู้ค่าพิลาสหอมวรรณศิลป์
กระบือโคมัจฉาอีกสกุณิน
ไป่รู้หอมปิ่นแก้วโคลงกาพย์กานท์ฯ


สนอง เสาทอง
สุขสนาม
สุรินทร์
6   มีนาคม 56

หมายเหตุ
*วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
**กาพย์ยานี ๑๑
***ขอบคุณ (ไร้นาม ไร้นวม) ที่ช่วยชี้แนะ ปกติถนัด "กลอน" ไม่ค่อยได้เขียน โคลง, ฉันท์ และ กาพย์



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 08 มีนาคม 2013, 12:20:PM

หัวอกเมียกวี

เอ้า! พ่อกวีตื่นไว! นี่สายแล้ว
ยังคลุมโปงจ่อมแซ่วอยู่ไยนั่น
หัดดูเขาใครอื่นเขาเป็นกัน
ตื่นแต่เช้าผลุนผลันปั่นหากิน

“...นั่นขันน้ำยาถูฟันอยู่ข้างโอ่ง
โน่นโสร่ง, ขะม้า อยู่ม้าหิน
พ่อกวีศักดิ์สายโด่งอยู่อาจิณ
อย่าชาชินเกียจคร้านอยู่เง่างม…

...โน่นไอ้โต้งแม่ขังแต่แย้มรุ่ง
เชิญพ่อกวีต้มปรุงให้อิ่มสม
แล้วค่อยวาดวิมานฝันวิมานพรหม
เชิญเถิดพ่อแล้งลมบ่มคำกวี…”


กรรมของฉันสามีชั้นกวีศักดิ์
อิเหลื่ออิหลักช้ำใจทุกวันวี่
ชั้นมูลไก่เหยียบไม่ฝ่อท้อฤดี
ชั่วนาปีครุ่นฝันคำหวานกรอง

เรื่องนอนดึกตื่นสายนั้นนิจสิน
งอมือเท้าไม่ทำกินนี้คับข้อง
ตั้งแต่รักสมัครใจร่วมฝาครอง
เมียเต็มหมอง ละเหี่ย! อกเมียกวี

พอแดดสายพ่อร้อนหลบนอนพัก
ให้เมียรักงกงกงานหน้าที่
พ่อฝันค้นความจริงและความดี
อีกความงามมากมีศรีศักดิ์ชน

แต่ชั้นเมียทำดีให้, ไม่ดีตอบ
แต่ชั้นจอบเสียมมีดพ่อไม่สน
แต่ชั้นหม้อช้อนจานไม่ลำบน
กินแล้วแช่กองล้นพ่อไม่แล

ครั้นแดดร่มลมตกตะวันอ่อน
พ่อก็ฟ้อนร่ำเมรัยสบายแท้
หมูเป็ดไก่กับแกล้มวางหราแบ
เมาอ้อแอ้ลิ้นไก่หายลงคอ

พอกันทีพ่อสามีชั้นกวีศักดิ์
อกเมียรักปะผุอารมณ์ท้อ
จะหนีบวชชีพราหมณ์แสงธรรมทอ
ให้กวีพ่อรื่นสมอารมณ์กวีฯ

ใจหอม ใสละออ

6 มีนาคม 56



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 08 มีนาคม 2013, 05:26:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
(๒)

โคลง
(๑)
ชั้นแต่มนุษย์ด่ำซึ้ง            บุปผชาติ
พรายสันสีผุดฉาด            ศิลป์แก้ว
พงศ์ภมรสกุณดาด            รู้ค่า
แต่ปองหวานแอร่มแล้ว         โผสิ้นผินฟ้าฯ

ฉันท์
(๒)
หอมศรีบุปผา            หอมค่ามาลี
ผุดผาดสันสี            ชนเสพศิลป์ล้ำ
นกผึ้งปองมาน            อิ่มหวานรสฉ่ำ
เริงร่ายลำนำ            โผผินบินจรฯ*

กาพย์
(๓)
หอมกลิ่นบุปผชาติ            สันสีฉาดเก็จตระการ
ชุบชื่นหอมรื่นมาน            ยามแบ่งบานกลีบผกา
วิหคภมรผึ้ง            หรือไป่ซึ้งงามบุปผา
เอมหวานพลันจรลา         โผผินฟ้าว่อนว่ายรำฯ**

กลอน
(๔)
เสมอชั้นแต่เผ่าพงศ์นรชาติ
จึงรู้ค่าพิลาสหอมบุปผา
ภมรแมลงอีกวิหคนานา
เพียงรู้ค่าหวานอิ่มแล้วบินจรฯ

สนอง เสาทอง
สุขสนาม
สุรินทร์
8 มีนาคม 56

*วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
**กาพย์ยานี ๑๑



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 09 มีนาคม 2013, 11:09:AM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
(๓)

โคลง
(๑)
ชั้นแต่มนุษย์เปรื่องรู้         วนาวิญญ์
ไศลผาโขดเถื่อนถิ่น            เสน่ห์ถ้ำ
ชุบชื่นวิญญาณกวินทร์         ซึ้งค่า
ด่ำดื่มอยู่ซากซ้ำ            กลั่นถ้อยโคลงสวรรค์ฯ

ฉันท์
(๒)
ผาภูเถื่อนถิ่น            โขดหินไม้ป่า
ต้นน้ำรักษา            ปกป้องปกปักษ์
โฉดชนใจต่ำ            หยาบย่ำถางหัก
ป่าจริงหมดรัก            อวยค่าป่าตึกฯ**

กาพย์
(๓)
ไศลผาเถื่อนไพรภู            พึงชนรู้ค่าวิศาล
ต้นน้ำห้วยลำธาร            ไหลเลาะผ่านเลี้ยงชีวิน
ป่าอยู่แม่น้ำยัง            ชนพึงฟังใช่เล่ห์ลิ้น
ป่าหมดแม่น้ำภิณฑ์            สรรพชีวินสิ้นเผ่าพงศ์ฯ**

กลอน
(๔)
ชั้นเผ่าพงศ์นรชาติประเสริฐ
พึงสดับเถิดเสียงเถื่อนภูร่ำไห้
แทร็กเตอร์แบ็กโฮถากทึ้งไพร
ใกล้สิ้นลมสุดท้ายหัวใจพนาฯ

สนอง เสาทอง
สุขสนาม
สุรินทร์
8 มีนาคม 56
*วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
**กาพย์ยานี ๑๑



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 10 มีนาคม 2013, 09:18:AM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
(๔)

ชั้นแต่มนุษย์ซ่านซึ้ง            มหรรณพ มณีค่า
โล้เห่กล่อมหล้าภพ            หฤหรรษ์
กวีฉานฤดีคบ            ไฟศิลป์ โชนแฮ
โคลงฉันท์แรปาดปั้น         กาพย์แก้วกลอนกรองฯ

ฉันท์
(๒)
อารมณ์สาคร            โล้ร่อนทุ่มถั่ง
ขึ้นลงโถมฝั่ง            แตกฟ่องว่องวาย
หมู่ชนสนเท่ห์            หกเหวกว่าย
ยากหยั่งเค้าหมาย         ส่ำสายชลเล่ห์ฯ*

กาพย์
(๓)
ชลสินธุ์โล้คลื่นเห่            ดั่งหญิงเล่ห์หลอนปอกปลิ้น
ยากหยั่งสาครจินต์            คล้ายลมลิ้นหญิงลวงชาย
คลุ้มคลั่งบ้างเรียบสงัด         บ้างขึ้งขัดบ้างตาปราย
จึ่งเปรียบมารยาไสย            หญิงนั้นร้ายคล้ายคลื่นชเลฯ**

กลอน
(๔)
ทะเลครวญโลกร้อนคาร์บอนร้าย
เข้าโจมจู่ทำลายโอโซนชั้น
แหวกช่องฟ้า, รังสี-สุริยัน
กรูเผาพลันขั้วโลกน้ำแข็งละลายฯ

สนอง เสาทอง
สุขสนาม
สุรินทร์
10 มีนาคม 56
*วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
**กาพย์ยานี ๑๑



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: ไร้นวล^^ ที่ 10 มีนาคม 2013, 11:01:AM
(ท่านสนองครับผมขอร่วมสนุกด้วยคนครับ emo_126)

(โคลง ๔ สุภาพ)

๐โคลงกลอนอันอ่อนช้อย         เฉกสยาม
ค้นทุกทิศทั่วคาม                บ่แจ้ง
มีเพียงหนึ่งศาสตร์งาม         เพริศเผ่า  เดียวเฮย
คือเขตขัณฑ์ไทยแกล้ง          ก่อแก้วประดับนิมา

(วิชชุมมาลาฉันท์)

๐ลูกหลานพรรณผ่อง          เรืองรองฤๅลา
น้อมนึกศึกษา                 หรือหลีกลี้วงศ์
เกริกกาญจน์จารไว้            ด้วยไทยไป่ปลง
เชิดชูชี้ชง                     เช่นเชื้อชาติไทย

(กาพย์ยานี๑๑)

๐ปลูกพฤกษ์ระลึกผล          จ่อกมลมิไปไหน
รดเช้ารดเย็นไย              จะมิปลั่งสะพรั่งงาม

๐กลอนโคลงก็โยงเยี่ยง       บ่บ่ายเบี่ยงและเคียงความ
คือเคร่งเคารพตาม           กวีปราชญ์พิลาศฉันท์

(กลอน๘)

๐ยิ่งเรียนร่ำดื่มด่ำกับคำหงษ์       ยิ่งลุ่มหลงลวดลายไอศวรรย์
ยิ่งจดจ่อต่อแต่งยิ่งแจ้งพรรณ       ว่ากลอนนั้นคือเอกดิเรกรงค์

๐แหงนพักตราสู่ฟ้าฟากสวรรค์     พร่ำจำนรรจ์ตั้งสัจจะด้วยประสงค์
เกิดชาติหน้าฉันใดได้พบองค์      พระจอมไตรพร้อมพงศ์สยามเทอญฯ

 emo_126 emo_126 emo_126 emo_85 emo_85 emo_85


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 10 มีนาคม 2013, 01:08:PM
(ท่านสนองครับผมขอร่วมสนุกด้วยคนครับ emo_126)

(โคลง ๔ สุภาพ)

๐โคลงกลอนอันอ่อนช้อย         เฉกสยาม
ค้นทุกทิศทั่วคาม                บ่แจ้ง
มีเพียงหนึ่งศาสตร์งาม         เพริศเผ่า  เดียวเฮย
คือเขตขัณฑ์ไทยแกล้ง          ก่อแก้วประดับนิมา

(วิชชุมมาลาฉันท์)

๐ลูกหลานพรรณผ่อง          เรืองรองฤๅลา
น้อมนึกศึกษา                 หรือหลีกลี้วงศ์
เกริกกาญจน์จารไว้            ด้วยไทยไป่ปลง
เชิดชูชี้ชง                     เช่นเชื้อชาติไทย

(กาพย์ยานี๑๑)

๐ปลูกพฤกษ์ระลึกผล          จ่อกมลมิไปไหน
รดเช้ารดเย็นไย              จะมิปลั่งสะพรั่งงาม

๐กลอนโคลงก็โยงเยี่ยง       บ่บ่ายเบี่ยงและเคียงความ
คือเคร่งเคารพตาม           กวีปราชญ์พิลาศฉันท์

(กลอน๘)

๐ยิ่งเรียนร่ำดื่มด่ำกับคำหงษ์       ยิ่งลุ่มหลงลวดลายไอศวรรย์
ยิ่งจดจ่อต่อแต่งยิ่งแจ้งพรรณ       ว่ากลอนนั้นคือเอกดิเรกรงค์

๐แหงนพักตราสู่ฟ้าฟากสวรรค์     พร่ำจำนรรจ์ตั้งสัจจะด้วยประสงค์
เกิดชาติหน้าฉันใดได้พบองค์      พระจอมไตรพร้อมพงศ์สยามเทอญฯ

 emo_126 emo_126 emo_126 emo_85 emo_85 emo_85

(อ้างถึง)

(คารวะตอบท่าน (ไร้นาม ไร้นวม) ด้วยร้อยกรองจากกุลีคำผู้นี้)

(โคลง ๔ สุภาพ)
อันโคลงฉันท์ร่ายแก้ว      กาพย์กลอน
วิลาศอนุสรณ์         ค่าแท้*
ฮินดูพุทธพราหมณ์สอน   คติเชื่อ ท่านเฮย
ภารตชนนั่นแล้         เศิกสร้างสยามตามฯ

(วิชชุมมาลาฉันท์)
เผ่าเชื้อพันธุ์ชน         ถ้วนหนทุกแห่ง
ผมดำผมแดง         ต่างเภทแผกพงศ์
ต่างตนสืบศาสตร์       ศิลป์ชาติยรรยง
ทูนเทิดธำรง         มอบแด่โลกหล้าฯ

(กาพย์ยานี๑๑)
ไม้ดอกอันงามค่า      กลีบช่อผกาเรืองอร่าม
หากผสมสายพันธุ์ข้าม    อาจสันสีผลิแปลกตา
ฉันใดก็เฉกนั้น         โคลงกวีฉันท์บุราณมา
ฉันทลักษณ์และภาษา      ผ่านวิวัฒน์หลายศกสมัยฯ*

(กลอน๘)
อาจละม้ายคล้ายคล้ายหากไม่เหมือน
อาจเหมือนเหมือนละม้ายแต่ไม่คล้าย
หรือละม้ายเหมือนเหมือนประพิมพาย
คมกานท์นั้น “คล้ายคล้าย” แต่ไม่เหมือน**



*อาจมีใคร “ไผ่นอกกอ” บ้าง ทำให้งานเขียนประเภทร้อยกรองมีการวิวัฒน์ มาตามลำดับ เช่น กลบทต่างๆ, หรือตระกูลฉันท์หลากสาขา และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ของเก่าก็ไม่ได้ทิ้ง

**จริงๆ เพราะภูมิหลังแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้ศึกษาโคลง, ฉันท์, กาพย์ และกลอนมาจากสำนักเดียวกัน หากแต่ละคนจะมีภูมิหลังต่างกัน จึงเกิด “พื้นที่” และ “ที่ทาง” เฉพาะของตนในการหยิบจับอะไรมาสื่อ ดังนั้น โคลง, กลอนฯ หัวข้อเดียวกัน 100 สำนวน การตีความ หยิบจับเอาเนื้อหามาสื่อ, ภาษาสำนวนที่ใช้อาจต่างกัน 100 แบบ แต่ความหมายเดียวกัน ดังนั้น การคิดแบบเหมารวม (เหมาเข่งชั่งกิโลขาย) ว่าสำนวนโคลงกลอนจะต้องมีแบบแผนมาตรฐานเดียวกัน เหมือนๆ กัน คงทำให้เรามีวิธีคิดที่คับแคบมาก ลองนึกภาพเราป้อนข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ แล้วมันก็แปลงค่ามาให้เรา ทั้ง 100 เครื่องเหมือนสำเนาเดียวกันหมด หากโคลง, ฉันท์, กาพย์ และกลอนของแต่ละท่านมีลักษณะเป็นเช่นนี้ ......เอวัง.....

ขอบคุณ (ไร้นาม ไร้นวม) มาก กับการได้เสพงานวรรณศิลป์ระดับ “ล้ำเลอค่าวรรณศิลป์” จากท่าน ทำให้ได้รู้ว่า ยอดฝีมือในยุคนี้ยังมีอีกเยอะแยะทั่วแดนดิน

โปรดรับการคารวะจากข้าพเจ้า

สนอง เสาทอง
10 มีนาคม 56

*แก้หน่อยเบลอมากเตรียมเดินทาง
[/color]


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: ไร้นวล^^ ที่ 10 มีนาคม 2013, 04:40:PM
 emo_126 emo_126 emo_126
        ถึงท่านสนองด้วยความคารวะอย่างสูง

-กระผมมิอาจเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดฝีมือได้เลยครับ เพราะกระผมยังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก เคยอ่านงานของนักเขียนและสมาชิกเว็บที่นี่และที่อื่น ที่สุดยอดฝีมือนี่กระผมชิดซ้ายไปเลยครับ
-ผมเองก็ฝึกกลอนมาได้เพียงปีกว่าๆ โดยที่ไม่ได้มีพื้นฐานอะไรที่แน่นนัก เพราะเรียนสายวิทยาศาสตร์มาตลอด เพราะฉะนั้น ยังมีจุดบกพร่องต้องปรับปรุงอีกมากครับ
-ผมเสียดายหลายๆท่านที่ฝีมือดีๆที่เคยเข้ามาและหายไปแล้ว ไม่งั้นเราทุกคนคงจะได้อ่านและฝึกฝีมือไปด้วย
-จริงๆแล้วผมเพียงแต่งคล่องขึ้นเฉยๆครับ แต่ระดับการแต่งยังเหมือนผู้ที่กำลังหัดอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจะดีใจมาก ถ้ามีกัลยาณมิตรช่วยติติงแนะนำในจุดทีืท่านเห็นว่ายังไม่ค่อยพลิ้ว ไม่ต้องกังวลใดๆว่าผมจะโกรธครับ ตรงกันข้ามผมจะดีใจมากกว่าครับ
-ผมก็หวังว่าทุกท่านจะพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งๆขึ้นไปพร้อมกับผมครับ

๐มิอาจเอื้อมออกอ้าง         อันใด    เด่นเอย
พอจะเชิดไฉไล                จมูกคิ้ว
คือบานเบ่งใครใคร           ก็ทัก
กรามใหญ่ร่ายรำงิ้ว          ปะแป้งหมดกระป๋องฯ  (อิอิอิ) emo_85




หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 11 เมษายน 2013, 10:44:PM
กาบแขวนไว้ข้างกลอน (ประตู)
'รงค์ วงษ์สวรรค์

๑.
เรณูปรูโปรย
วิรงรองแม่นว่าพลับพลึง
เพทายแก้วก่ำหม่น
กรวด, แก้วเก็จกาววาว
แมงบ้ง, จั๊กกิ้มจั๊กกะเล้อ
ร่านระดาฤดี
๒.
หยาดน้ำค้างพร่างเพรียง
ไมกากลีบหินชุ่มชรอุ่ม
ดิน, ดาน, กำหนัดสันดาน
ดลดอนถนนคอนกรีท
ถัน, ถนัน, ถนนแน่วพ้นบ้าน
ม่าน, ควันมลพิษ
บ้า, ใบ้, ไขสือไม่ยินยลก่นโคตร
เมามนอำนาจแลเงินขุ้นขึด
ไอ้ขี้ฮากสองกอง
แม่งมลาย
๓.
แพร่งสบสังวาส
บนชานชาลาสถานีขี้เหมี้ยง
หลุผุ
หมอนไม้รองเรียงรับเหล็กขนาน
สร้อยสนิมอเนกอนาจาร
สีการาคะสมีสถุลถ็อกถ่อน
ก่อก่นกลกามกะหลี่-
กัญชา,
ฝอยทอง,
๔.
บ่ายเวลานาฬิกาคล้อยคล้าย
หวีดหวูดรถไฟบรรเลง
โฉงเฉงฉอกเฉกเฉวียนไฉน
ฉลุฉลวยดำรู
สิมพลีแม่นว่าไม้งิ้ว, หนามไหน่
จั๊กกะเล้อเหลือง, ไอ้โล้น,
โดนขย่มกบาลแยงเยียน, เยียใด
อีร่านเริงร่า
๕.
อ้าปากขบกัดกินไก่ไฟ,
ย่างเกรียมนุ่มนุช
โซดา, เทวา, เดวาร์อมฤตรส
ละมุด, ละเม็ดถั่วถิมทิ่มเกลือกลอกกลิ้ง
ถาโถมถ้อย,
ก้อย, กุ้งเกรียบกรอบ
เผาเผ็ดพริกเค็มน้ำปลาเปรี้ยวมะนาว
สยิวเสยียว
๖.
แก้วคลาไคลรมเยศ
ขมุบขมิบขมมคลึงเคล้าอรทัย
อร่อยแอร่มลำหลายปลายนิ้ว,
ปลายลิ้น,
กุนเชียงยำแตงกวา,
กุ้งพล่า, ส้มฟักแนมขิง,
จื่น, จ่าว, เจียวผักแคบ,
แอบอิงยำไก่ลาบฟัก,
ส้ามะเขือหำม้าเห็ดถอบ,
แค็บหมูไส้อั่วพริกอ่อง,
แกงขนุนคั่วผำตำพริกอีเก๋,
ผักเชียงดา, ขี้ก๋วง, ขี้เสียด,
ส้าน, ส้าน, เสี้ยน, เสี้ยน, เสี้ยน,
เหียนหัน,
หิวหื่นกามา,
กาเฟอีน,
โคเคน, รเบงระบำอ้อนแอ้น
แคนธาริดีสแม่นว่าแมงงนสเปน
สะป๊ะสป่าย,
ก่ายเกย,
ป่นปี้สี้ไสยาล่วงชู้ทรามเชย
ในโบกี้บังม่านนอนโท
๗.
เลขผาบนหน้าปัดจรลี, ผ่านเวียง,
สเปกตรัมแผดแผ่รังสี
อมรา, อมีบา, สาลี, ข้าวโพดเทียน (อบเนย)
แหนม, แนมเหน็บนวลนาง
แกงอ่อม, แกงแคแลนแคลิ่น
แคเต่าแคเห็ดทั้งปลาฝา
ส้าผักกูดแมงมันแลมดส้ม
ต้มปุ๋มหนา
ลาบไก่อ็อกปลากั้งปลาปก,
ร้าวรัญจวน
๘.
รุกรวดวัวเถลิงล่นถึงแปดอย
เครือออนบานไสว
แดดแรแสงสาดเส้า, กาสะลอง,
กันเกรา, กะล่า, กรักแก่นบะลิดไม้,
เอื้องเผิ้งสามปอย, แกถวา,
สารภีผกาฟ้ามุ่ย,
เม็ดทราย,
๙.
สไบ, บิกินี, มาร์ทินีมะกอกเทศ
หม้อห้อม, เตี่ยวยีนส์ปีนป่าย
จำปาจำปีคางคากแลยางเนิ้ง
มะแขว่น, ปลากั้ง, ก้าน, แกด,
ปลาเหยี่ยน, เป้า, ปาน, สะป๊าก,
ไหน่, หนอน,
แน้, ปูนา,
น้ำเมี้ยงน้ำปู, ข้าวมวก
มะเหนียกน้ำมณีเม็ดใน, หนอง
ฟักหม่น, น้ำตาชุ่มกว่าน้ำฝน,
กูเป็นคน,
หนึ่งไม่เป็นสองรองไผ
หน็อย—กูเป็นหนองในโกโนเรีย
๑๐.
หยาดร้อยหยดโอดโอย
อีแม่โป่ใคร่หวัวไยไพ
แมงงน, ขี้เดือน, กำบี้, กำเบ้อ, ก่ำปุ้ง,
แปดเปื้อนสังคมสังคัง, สังคัน
นกแล, กองกอย, เกว๋น,
แอ่นแวน, กะบ้า,
เอี้ยงคำ,
เอี้ยงขี้หมาแหม้นมะม่วง (ฝี)
แม่ฮ้างแม่เฮือนเบือนหน้า
นมแมว, สะบันงา, เค็ดเค้า,
อูน, ออนเครือ, สารภีสลิดก้าน
มะลิซ้อนกาบกลีบอ้าซอนลอน
วาบวับหวี่หวิวหวิว,
หวิว,
วอนแวนว้อง,
วงเวียนเทียนหมกไม้
๑๑.
บานหน้าต่างประตูกลอน
กร่อนกาพย์ยานีคาบคารวะโยนี
อมีบา, บักเตรีสไปริลลัม,
ขอกคอกคั้นเคี่ยวเมฆา,
วิลย,
วิลัยวิลัยวิลาป
ครั่งเคียงไฟแลไขเคียงแดด
ต่อมแตกเร่าร้อนละลาย
กรวดวางไว้บนกรวด
ทรายวางไว้บนทราย
อากาศวางไว้บนอากาศ
นบนอบน้อมเนิ้ง
สุมาเต๊อะ—ไอ้หน้อยนี้บ่แม่นว่ากวี
กะทกรกก้นแง้นงึดง่าว
แม้นว่าคนสาละวีกจิตหลุนั้นแม่นแล้ว, ป้อเฮย


*'รงค์ วงษ์สวรรค์ ฉายา "พญาอินทรีในสวนอักษร" อยากให้เพื่อนๆ สังเกตชั้นเชิงลีลาความเป็นนักเลงภาษา เนื้อหาอาจหมิ่นเหม่สองแง่สามง่ามไปบ้าง แต่เป็นบทกวีเกียรติยศที่น่าจะได้อ่านประดับความรู้และสติปัญญา
*พิมพ์ครั้งสุดท้ายใน สองบทกวีประดับไว้ในวงวรรณ, นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย, กวีนิพนธ์รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒, กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซชิ่ง, 2552
*พิมพ์ครั้งที่ ๒ ลมบาดหิน
*พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร HI-CLASS


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 17 เมษายน 2013, 11:00:AM
หนังสือและศิลปะ
นิ้วกลม

ตัวอักษร
เป็นได้ทั้งดาบ
และดอกไม้

ตัวหนังสือ
ไม่ต่างจากสีน้ำ
มันสร้างสรรค์ความงามได้เช่นกัน

กวีที่ไร้ความเศร้า
บทกวีของเขา
ย่อมขาดมิติ

โลกของกวี
เข็มนาฬิกา
เดินช้า

ถ้าเธอมีความงามอยู่ในดวงตา
จงกลั่นมันออกมา
เป็นบทกวี

กวี
จับห้วงหนึ่งของความเศร้า
มาเล่าให้งดงาม

จิตรกรพยายามวาดดอกไม้ให้เหมือนจริง
ดอกไม้กลับยิ่ง
มีเสน่ห์น้อยลง

ลายเซ็น
ไม่ต้องพยายาม
ถ้าพยายาม
ก็ยังไม่เป็นลายเซ็น

อาจารย์ชราเคยแนะนำฉันว่า
จงอย่าวาดดอกไม้
ด้วยสมอง

ฉันถามจิตรกรว่า
วาดดอกไม้อย่างไรให้สวย
จิตรกรตอบ
เธอต้องมองเห็นความสวยของมันก่อนลงมือวาด

ความงาม
ปรากฏตัว
อยู่ทั่วไป

พิเศษ
ธรรมดา
อยู่ที่ตาเรา

ความงาม
ไม่ได้อยู่บนกลีบดอกไม้
มันอยู่ในดวงตาของผู้มองดอกไม้

ลมพัดผ่านบ้านของเธอเสมอ
ต่างแค่
บางวันเธอปิดหน้าต่าง

ฉันสังเกตพบว่า
สิ่งที่เปราะบาง
มักจะสวยงาม

ความสวยงาม
ต้องการ
การดูแล

สวยที่มากไป
กลายเป็น
น่าเกลียด

บางคำ
สวยงาม
เมื่อพูดโดยไร้เสียง

สิ่งมีชีวิต
กับสิ่งมีหัวใจ
ไม่เหมือนกัน

ความงามหายไปทันที
เมื่อเธอพยายามสร้างทฤษฎี
วิธีดูดอกไม้

จงเก็บภาพของโลกที่สวยงามเอาไว้
ก่อนสายตายาว

ความพร่ามัว
มีเสน่ห์กว่า
ความชัดเจน

ความรู้สึก
จริงกว่า
ความคิด

ความงาม
สัมผัสด้วยความรู้สึก
ไม่ใช่ความคิด

จาก
หนังสือและศิลปะ, สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยเฉย, พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ, แพรวสำนักพิมพ์, 2554, pp156-162



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: Thammada ที่ 17 เมษายน 2013, 12:44:PM
(http://statics.atcloud.com/files/comments/56/564602/images/1_display.jpg)

ปีกผีเสื้อ

( ๑) อ่อนโยนเหมือนดอกไม้ไกวลมร้อน
เมื่อรำฟ้อนปีกพรายระบายสี
บางเบาและโบกโบยโดยเสรี
คือดนตรีแห่งชีวิตอิสรา

       ลึกซึ้งซับซ้อนสวยอ่อนหวาน           
กร้าวแกร่งด้วยดวงวิญญาณที่หาญกล้า
        แบกรับภาระพันธนา                             
และอ่อนล้าขณะพลิ้วกลางริ้วลม

หัวใจรักราวจะเชิญให้เหินหาว               
เมื่อเหน็บหนาวก็จักมีเสรีห่ม
มีความฝันเป็นไฟในอารมณ์               
ไว้ระดมพลังแห่งแรงโบกไกว

เธอแต่งโลกเสรีด้วยสีสัน               
เธอแต่งแต้มคืนวันอยู่หวานไหว
ปีกแบบบางบอกนิยมความอำไพ 
และสอนให้รู้เสน่ห์ของเสรี

(๒) ว่าใช่การร้องขอ ต้องต่อสู้
ถึงคับแค้น ใช่ค้อมคู้ ผู้กดขี่
เธอคือความรักซึ่งจักมี               
ในทุกที่และในหัวใจคน

เธอคือสัญลักษณ์จำหลักหล้า               
ลบรอยล้าในโลกแล้งทุกแห่งหน
ปลุกชีวิตและวิญญาณการดิ้นรน   
ปลุกมวลชนชะลอฝันอันเพริศพราย

เธอ คือปีกสีของผีเสื้อ               
เธอ หยาดเหงื่อเพื่อหาค่าความหมาย
วันนี้สองปีกผีเสื้อซึ่งเรื่อราย               
ก็หลากหลายรอยเรื้อเมื่อโบกโบย

ด้วยร้าวลึกกับความหวังที่สั่งสม   
ด้วยแรงลมซึ่งรอนจนอ่อนระโหย
อุดมการณ์หาญกล้าจะล้าโรย               
ให้รู้โดยจะดับฝันอันอำไพ

ทุกจังหวะชีวิต ปีกผีเสื้อ               
โบยบินเพื่อความฝันอันไสว
ฝันซึ่งเธอจะบินฝ่าข้ามฟ้าไป               
สู่สีสันสวยใสในพรุ่งนี้

(๓) และเธอย่อมเหนื่อยหนักเป็นนักหนา   
ด้วยอัตราบรรทุกจนล้นปีกสี
ข้อเรียกร้องความต้องการอันมากมี   
หนักอยู่ที่ปีกทั้งสองของเธอนั้น

เธออาจบินไปได้แต่ไม่ถึง               
ปีกหนักอึ้งจะโอนพับลงกับฝัน
ถ้าเธอไม่หาทางปล่อยวางมัน               
โดยเชื่อมั่นพลังแห่งแรงทะยาน

         ปีกเสรีที่บางอย่างดอกไม้                 
ฟ้าจะใสโลกจะซ้อนความอ่อนหวาน
เธออาจโบกปีกโบยโดยเบิกบาน   
ได้ด้วยการรู้จักพอต่อเสรี

ประพันธ์โดย : อ.อดุล จันทรศักดิ์



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 17 เมษายน 2013, 09:40:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๕)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
อันมนุษย์เพียรเร่งรู้         ทินกร มณีค่า
วาดทิวาแผดร้อน          อำมหิต
เช้าค่ำเคร่งบทจร            ฤาผ่อน เว้นพัก
รัศมีศักดิ์แกว่นฤทธิ์         สว่างหล้าไสวสวรรค์ฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
อาทิตย์ฤทธิ์แรง            แผดแสงเร่าร้อน
ฤาหยุดผัดผ่อน            รอนรถเรื่อยล่อง
โคจรทาบฟ้า            สาดทาฉาบผ่อง
ฉานฉายรังรอง            โชติช่วงอำไพฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
ทินกรรัศมีกล้า            ส่องเด่นหล้าจบสวรรค์ไสว
ถักทอแสงโชนไกร         ฉาบเรืองไรทาบโค้งฟ้า
บทจรเวหาหน            บันดาลดลม่านทิวา
เกื้อกูลสรรพชีวา            เนิ่นเนามาอสงไขยฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
สรรพชีวิตไม่เว้นนรชาติ
ล้วนรู้ค่าพิลาสสุริยะสาย
สว่างหล้าสว่างโลกพรรณราย
สรรพชีวิตดิ้นป่ายใต้สุริยันฯ

สนอง เสาทอง
อินทามระ 10
5 เมษายน 2556


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 19 เมษายน 2013, 12:33:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๖)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
แขดวงนวลแจ่มเบื้อง       กาลราตรี
ดาริการุบหรี่                   ดื่นฟ้า
เดือนดาราย้อมสี             แพร้วพร่าง เพ็ญนิศา
กวีฝันบรรเจิดจ้า             พร่ำถ้อยวจีกรองฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
ดาวเดือนเด่นฟ้า            แจ่มหล้าเวหน
นวลเย็นยามยล             ด่ำมนต์ดื่มบาน
ชื่นใดไหนเท่า               กาววาวก่ำกานท์
ร้อยถ้อยขับขาน            ซึ้งสร้านใจชนฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
ดาวเดือนป้ายเปื้อนฟ้า         แต้มนิศาราตรีแผ้ว
เจิดแจ่มพริ้งเพริศแพร้ว       ก่องแกมแก้วแวววับวาว
กวีชนร่ำเสพฝัน                  คืนเต็มจันทร์เพ็ญรุ้งราว
ดาราพริบพรีพราว             ก่ำเก็จกาวแข่งแขไขฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
คืนจันทร์นวลข้างขึ้นแต้มฟ้าเพ็ญ
ปรายแสงเย็นเด่นแขวาดนิศา
ดอกดาวพรายป้ายเปื้อนแก้มนภา
อวดแสงจ้อยพริบพร่าแข่งศศิธรฯ

สนอง เสาทอง
อินทามระ 10
7 เมษายน 56


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 20 เมษายน 2013, 10:47:AM
กวีนิพนธ์
สนอง เสาทอง

หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๗)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
   เคียวรุ้งโค้งป่ายคุ้ง           นภาลัย
รวีแสงสาดไสว                   เด่นรุ้ง
หลากสันสีผกาย                 เพชรร่วง ค่าล้ำ
กวีเสพร่ำร่ายฟุ้ง                 พร่างแพร้วมณีบรรณฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
สูรย์แสงวาดรุ้ง            ทาบคุ้งโค้งฟ้า
หลากสีแยงตา             เด่นล้ำงามยล
ถักทอเคียวรวง            ดุจสรวงเสกดล
รุ้งร่วงใจชน                เลอค่าทิพย์สรรฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
   รวีสายวาดเฉดรุ้ง         ใช่พลอยหุงเพชรรุ้งร่วง
สันสีพร่างยองยวง           ล้ำเลอสรวงค่าควรเมือง
   รุ้งราวแจ่มวาววับ         พราวระยับขับประเทือง
เอกมณีน้ำเรื่อเรือง          เด่นกระเดื่องเลื่องไตรภพฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
   เคียวรุ้งรวงสรรสีแรโค้งฟ้า
พิสุทธิ์งามลออค่าล้ำเลิศศิลป์
ดั่งฝีแปรงปาดป้ายเอกศิลปิน
เกี่ยวโน้มฟ้าจูบดินไร้หมิ่นแคลนฯ

สนอง เสาทอง
อินทามระ 10
10 เมษายน 56



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 05 พฤษภาคม 2013, 09:56:AM
หอมวรรณศิลป์
   (๘)
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
เหลืองดอกคูณอร่ามแต้ม      ระย้ารวง
ไสวสล้างช่อผกาพวง         ถิ่นแล้ง
ท้าดอกสูรย์แดงดวง         ร้อนร่าย พริบระยับ
เหลืองคูณขับเด่นแย้ง         ป่นแห้งดินอีสานฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
ดอกคูณพวงช่อ      เหลืองล้อแดดแดง
ขึ้นดินทรายแล้ง      สืบเหล่าว่านวงศ์
เหลืองคูณอีสาน      ศรีบ้านค้ำยง
เหนือดินฝุ่นผง         แห้งร้อนกันดารฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
ดอกคูณถิ่นอีสาน      หน้าแล้งบานสล้างร่าย
ระย้าพวงช่อราย      ต้องแดดบ่ายอร่ามเหลือง
แต้มทุ่งนาทรายดิน      สันสีรินไสวรังเรือง
ดอกคูณค่าควรเมือง      งามลือเลื่องอีสานถิ่นฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
พวงช่อคูณแบ่งบานระย้าเหลือง
ค้ำคูณบ้านศรีเมืองระแหงอีสาน
ยามแดดแล้งไสวสล้างช่อกลีบบาน
เหลืองละลานรังเรืองทุ่งทรายดินฯ

สนอง เสาทอง
สุรินทร์
5 พฤษภาคม 56



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: Thammada ที่ 05 พฤษภาคม 2013, 04:32:PM
(http://4.bp.blogspot.com/-r2RRepX3w3s/TcI_7-8AL5I/AAAAAAAAM8o/8uyCUT4HZAY/s400/index.jpg)

คือ “จิตร ภูมิศักดิ์” คือ “ปราชญ์สามัญชน”

๏ ห้าพฤษภาฯสองห้าศูนย์เก้า 
สามัญชนทอดเงาเพื่อเล่าขาน 
กำเนิด “จิตร ภูมิศักดิ์” เป็นตำนาน 
กำเนิดปราชญ์ก่อนกาลสายธารธรรม 

๏ ใช่แค่เพียงนักคิดและนักเขียน 
ใช่แค่เรียนรู้ตนพ้นทางต่ำ 
ใช่แค่นึกเป็นนายเพื่อชี้นำ 
ใช่เพื่อย่ำยีใครใช้บีฑา 

๏ หากแต่คิดและเขียนเร่งเรียนรู้ 
เพื่อยืนหยัดเย้ยสู้อย่างผู้กล้า 
ในกระแสแห่งอยุติธรรมา 
ต้องยุติธรรมดาสามัญชน 

๏ ใช่แค่เพียงชี้นิ้วตามใจนึก 
หากแต่พร้อมสู้ศึกในทุกหน 
คนยังคงยืนเด่นเต็มค่าคน 
ยืนข้างผู้ทุกข์ทนเพื่อเป็นไท 

๏ “ภูมิศักดิ์” เต็มศักดิ์และเต็มสิทธิ์ 
เต็มค่าเต็ม “จิตร” เต็มใจให้ 
ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้และแน่ใจ 
เพื่อส่องทางสว่างไสวในแผ่นดิน 

๏ ห้าพฤษภาฯสองห้าศูนย์เก้า 
สามัญชนทอดเงาเถ้าคืนถิ่น 
แต่ปณิธานยังอยู่ยั้งให้ยลยิน 
ไม่สุดสิ้นตำนานเหนือกาลเวลา 

๏ ยังคงชื่อคง “จิตร ภูมิศักดิ์” 
สามัญชนจำหลักเต็มคุณค่า 
ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่คนธรรมดา 
แต่คือปราชญ์ส่องทิศาอุษาคเนย์ 

คือปราชญ์สามัญชนคนธรรมดา 
คือ “แสงดาวแห่งศรัทธา” อุษาคเนย์ฯ 

นายทิวา 
ศุกร์ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 06 พฤษภาคม 2013, 08:14:AM
กรองรสพจนารถเต็มปรารถนา
ศรัทธาสร้างสรรค์รสวรรณศิลป์
แม้ไม่มีคุณค่าชั่วฟ้าดิน
แต่ใช่สิ้นคุณขลังพลังคิด

ด้วยอารมณ์ด้วยรักมนตร์อักษร
ร้อยกาพย์กลอนนั่นหรือคือใจลิขิต
พากเพียรเจียระไนคือใจนิมิต
เป็นบทกวีชีวิตจากจิตกวี

ฝากเป็นขวัญยุคทุกข์สุขสมัย
รจนาสารนัยไว้ศักดิ์ศรี
เป็นมิ่งแก่ตนมงคลฤดี
ขอฝากผลงานนี้สู่ศรีพิภพ

แรคำ ประโดยคำ
คำนำ, กวีนิพนธ์ ในเวลา, รางวัลซีไรต์ประจำปี ๒๕๔๑, พิมพ์ครั้งที่ 10, เคล็ดไทย, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๓


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 06 พฤษภาคม 2013, 05:38:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๙)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
สี่ธาตุผักพื้นบ้าน      ถิ่นไทย
ธาตุดินผักหลากหลาย      ควรรู้
ฝาดหวานมันเค็มใช่      แท้ท่าน รสชาติ
ขลังชะงัดผ่อนกู้      โรคร้ายไป่พานฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
พืชผักพื้นถิ่น      ธาตุดินรสฝาด
มันเค็มหวานหยาด   แครอททองหลาง
แก้โรคหัวใจ      ผ่อนร้ายหลีกห่าง
ไขมันเจือจาง      ลดดันในเลือดฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
หัวปลีมะขามป้อม       รสฝาดย้อมวิตามิน      
เบต้าแคโรทีน         ฟักทองถิ่นรวมแครอท
ถั่วพูถั่วฝักยาว         กระโดนเฮาจิ้มแจ่วยอด
สมอไทยอย่าค่อนขอด      ละผัดทอดของมันดองฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
ผักธาตุดินรสหวานเค็มมันฝาด
มีเกลื่อนกลาดหลากพันธุ์พื้นบ้าน
บรรพชนไทยรู้ค่าแต่โบราณ
ยากลางบ้านพืชครัวล้วนสมุนไพรฯ

สนอง เสาทอง
สุรินทร์
6 พฤษภาคม 56

หมายเหตุ ;
อธิบายความต่อเนื่องมาจากที่คุณ choy โพสต์ในกระทู้ “ฝึกแต่งโคลง” เพื่อไม่เป็นการเบียดบังกระทู้อื่น
*คนธาตุดิน ควรรับประทานผัก รสฝาด หวาน มัน และเค็ม มีเส้นใย, วิตามิน A, B และ C แคลเซียมสูง มีประโยชน์ช่วยลดอาการโรคหัวใจ, เบาหวาน, ลดไขมันในเลือด, ลดความดันโลหิต และต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ
**ผักรสฝาด อาทิ หัวปลี, กระโดน และยอดเม็ก ฯลฯ แก้โรคกระเพาะและสมานลำไส้, โลหิตจาง, ลดน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน, ความดัน), แก้ท้องร่วง ฯลฯ
***ผักรสหวาน มัน อาทิ แครอท, ฟักทอง และถั่วฝักยาว ฯลฯ มีเบต้าแคโรทีนและเส้นใยสูงต่อต้านอนุมูลอิสระ, บำรุงร่างกาย, เจริญอาหาร และบำรุงไต ฯลฯ
****ของเค็ม เช่น ผักดองต่างๆ ไม่ควรรับประทาน



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 07 พฤษภาคม 2013, 11:25:AM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๑๐)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
ผักพื้นบ้านธาตุน้ำ      ถิ่นไทย
ทั้งกินลูกน้ำใบ         ฝาดเปรี้ยว
ฟอกโลหิตระบาย      ท้องท่าน สรรพคุณ
เปรี้ยวฝาดคุ้นรสเฮี้ยว      ปร่าลิ้นลูกมะกอกฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
บักเฟืองติ้วใบ         เส้นใยสารสูง
บักนาวตำหุ่ง         แซ่บนัวอีสาน
บักกอกรสฝาด         แก้ธาตุอาการ
บักม่วงหน้าบ้าน      บักดันริมบวกฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
มะม่วงปลูกใกล้บ้าน       มะดันนั้นขึ้นริมห้วย      
มะเฟืองสุกเหลืองสวย      มะนาวช่วยปรุงยำพล่า
ผักติ้วและมะกอก      ไม่ต้องบอกพันธุ์ผักป่า
ธาตุน้ำผักนั่นหนา      เปรี้ยวลิ้นซ่าตะลิงปลิงฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
ผักธาตุน้ำรสชาติเปรี้ยวอมฟาด
แก้พิการธาตุ, ลดไขมัน-ฟอกโลหิต
มะกอกป่าเปรี้ยวฝาดแก้โรคบิด
กินผักปลอดสารพิษชีวิตยาวฯ

สนอง เสาทอง
สุรินทร์
6 พฤษภาคม 56


หมายเหตุ ;
*ธาตุดิน ควรรับประทานรสเปรี้ยว และเปรี้ยวอมฝาด มีเส้นใยสูง, วิตามิน C แคลเซียมสูง มีประโยชน์สรรพคุณทางยาหลายประการ

**รสเปรี้ยว อาทิ มะม่วง, มะดัน, มะนาว, ตะลิงปลิง, มะเฟืองฯลฯ
ช่วยระบายท้อง, แก้ระดูเสีย, กัดเสมหะ, ฟอกโลหิต, แก้หวัด, ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และแก้อาการเจ็บคอ ฯลฯ

***รสเปรี้ยวอมฝาด อาทิ มะกอก, ติ้ว ฯลฯ
แก้โรคธาตุพิการ, แก้บิด, ลดความดันโลหิต, ลดไขมันในเลือด และโรคหัวใจ
ฯลฯ


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 08 พฤษภาคม 2013, 12:53:PM
โศลกไพร

   ไหลรินถวิลต่ำไซร้      ไยกัน
ผันอกสวรรค์ออกปัน         ชื่นให้
หลามโลมไศลผ่านไพร         เถื่อนทุ่ง
ถามชลาเฉลยตอบคุ้ง         มุ่งเลี้ยง ดินเกษม

   ถนอมดินหมายปลูกไม้   ขจีงาม
แหงนทูลฟ้าคราม         เคร่งเข้ม
เขียวปูถวายไว้เต็ม         ต่ำเบื้อง
เสนอคอยสนองบาทเยื้อง      เทพไท้ กรายวสันต์
   
   แสงพลันไสวสว่างพื้น      ภูวดล
ไหวละอองใสอร่ามยล         ยั่วนั่น
ฉายสิขรขณะปัน         ถ่อยหญ้า
เฉลยใจเผยจากฟ้า         หญ้าย้ำ จำเสมอ

   ถามเอย...เผยสิมนุษย์      มโนงาม
เสียงเลือนหายโสตตาม      สดับเก้อ
สูเกิดหมายแต่เปรอ         จิตจ้วง
เฉลยเพียงเหิมห่ามล้วง      ตักห้วง ตัณหา

   หวิวลมฉิวลิ่วไม้      ไกวใบ
ไหวพรมผิวโศลกไพร         แว่วว่า
ผล็อยลอยเหลืองใบชรา      สลดร่าย
ถามเอยเฉลยสุดท้าย         ปลดทิ้ง ประวิงไฉน.

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
มือนั้นสีขาว, รวมบทกวีซีไรต์ประจำปี ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ 7, สามัญชน, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๒, p94   


Choy
8 พฤษภาคม 56



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 09 พฤษภาคม 2013, 12:52:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๑๑)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
ผักธาตุลมถิ่นบ้าน      พืชครัว
รสซ่าเผ็ดร้อนนัว            แซ่บลิ้น
ผักชีฝรั่งยกตัว            อย่างเช่น ท่านนอ
ข่าอ่อนก็สุดดิ้น            เซ่นร้อนน้ำตารินฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
ผักบ้านธาตุลม         ไม่ขมแต่เผ็ด
ยี่หร่ารสเด็ด         ผักชีลาวแท้
หูเสือผักไผ่            ต้มไก่ข่าแม่
หัวแหวนขิงแก่         เผ็ดร้อนขับลมฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
กะเพราไก่และหมู       กระชายคู่โหระพา      
ชะพลูและยี่หร่า         เหง้าอ่อนข่าและตะไคร้
หูเสือสะระแหน่         เหง้าขิงแก่และผักไผ่
ธาตุลมผักนั่นไซร้      จดจำไว้รสเผ็ดร้อนฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
ผักธาตุลมเผ็ดร้อนรสเด็ดแท้
สรรพคุณแก้ความดันคลื่นไส้เหียน
แน่นเสียดเฟ้อท้องอืดและอาเจียน
บิดมูกเลือดวิงเวียนและขับลมฯ

สนอง เสาทอง
สุรินทร์
8 พฤษภาคม 56


หมายเหตุ ;
*ธาตุลม ควรรับประทานผักรสเผ็ดร้อน อาทิ กะเพรา, กระชาย, ยี่หร่า, โหระพา, หูเสือ, ชะพลู, ข่าอ่อน, ผักชีฝรั่ง, ผักชีลาว, ขิง, ตะไคร้, ผักไผ่, ผักคราดหัวแหวน และสะระแหน่ ฯลฯ

**ประโยชน์คือมีวิตามิน A, เบต้าแคโรทีนสูง ต้านอนุมูลอิสระ สรรพคุณทางยา อาทิ ขับลม, แก้ปวดท้อง, คลื่นเหียนอาเจียน, ขับปัสสาวะ, แก้บิดมูกเลือด, ลดความดันโลหิต, ท้องอืดท้องเฟ้อ, จุกเสียดแน่นเฟ้อ, แก้ลมวิงเวียนศีรษะ, ขับเสมหะ และช่วยเจริญอาหาร ฯลฯ


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 10 พฤษภาคม 2013, 05:54:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
(๑)

โคลง
(๑)
ชั้นแต่มนุษย์แก่นซึ้ง         ศิลป์บรรณ
ปวงกวินทร์ลิขิตฉันท์         ห่อนร้าง
พิสุทธิ์กรองกลอนวรรณ         แก้วทิพย์
ชั้นแต่มนุษย์หอมสร้าง         เพริศแพร้วบรรณศิลป์ฯ

ฉันท์
(๒)
หอมศรีเพ็ญศิลป์         ทั่วถิ่นทศทิศ
พิสุทธิ์พิจิตร            หอมซึ้งกำซาบ
ก่องเก็จกานท์กล            หลั่งท้นแก้วกาพย์
โบกฉันท์ทองฉาบ            งามสรรรุ้งศิลป์ฯ*

กาพย์
(๓)
เสมอชั้นนรชาติ         รู้พิลาสวรรณศิลป์
ชุบชื่นอารมณ์วิญญ์         เสพดื่มกินโคลงกาพย์ฉันท์
ร้อยกรองประทีปกานต์         เร่งเจือจานและแบ่งปัน
หอมกานท์ชั้นทิพย์สวรรค์         เวไนยนั้นฤาห่อนมีฯ**

กลอน
(๔)
เสมอแต่ชั้นเผ่าพงศ์นรชาติ
จึงรู้ค่าพิลาสหอมวรรณศิลป์
กระบือโคมัจฉาอีกสกุณิน
ไป่รู้หอมปิ่นแก้วโคลงกาพย์กานท์ฯ


สนอง เสาทอง
สุขสนาม
สุรินทร์
6   มีนาคม 56




(อ้างถึง)

หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
อันโคลงฉันท์ร่ายแก้ว         กาพย์กลอน
ปวงปราชญ์ลิขิตสอน         แก่นซึ้ง
ชนพึงอย่าร้างรอน         น้อมร่ำ ทิพย์วิเศษ
ล้างกิเลสย่ำทึ้ง            ผ่องหล้าฤดีสมัยฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
หอมศรีทิพย์ศิลป์         รวยรินซ่านซึ้ง
ด่ำดื่มเร้ารึง            ก่องแก้วเก็จกานท์
ชุบฉ่ำดวงจิต            เนานิจวิญญาณ            
พงศ์ชนรื่นบาน            อาบหอมเพ็ญบรรณฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
เสมอชั้นนรชาติ            รู้พิลาศวรรณศิลป์
เสพรื่นอารมณ์วิญญ์         ถ้อยกวินทร์โคลงกาพย์ฉันท์
เปรตภูตและเวไนย         หาซึ้งนัยแก้วกรองบรรณ
ส่ำสัตว์อเนกอนันต์         หรือรู้กานท์ค่าทิพย์หอมฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
เชื้อพงศ์เผ่านรชาติชั้นประเสริฐ
รู้หอมค่าล้ำเลิศวรรณศิลป์
สรรพสัตว์เวไนยแม้ยลยิน
หรือรู้หอมปิ่นโคลงฉันท์กาพย์กลอนฯ

จากคอลัมน์ กวีนิพนธ์, สนอง เสาทอง, นิตยสาร What HiFi?, ปีที่ 28 ฉบับที่ 330, 2556, หน้า 218

***หมายเหตุ
ทั้งที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร What HiFi? และโพสต์ลงในบ้านกลอนไทย ผู้ประพันธ์คนเดียวกันครับ แต่มีบ้างที่แตกต่างกัน ดังที่นำมาลงเปรียบเทียบให้เห็นนี้ ไม่ใช่การ “ก๊อปปี้” ครับ



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 11 พฤษภาคม 2013, 04:51:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๑๒)

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
ผักธาตุไฟพื้นบ้าน      หลากมี
บัวบกกะหล่ำปลี      เป็นต้น
รสขมเย็นจืดชี้         ตัวอย่าง ท่านนา
อีกเฝื่อนเย็นคละล้น      ผ่อนไข้สรรพคุณฯ

๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
ผักพันธุ์ธาตุไฟ      มากมายพื้นบ้าน
เหนือใต้อีสาน      ทั่วถิ่นแดนไทย
ขมเย็นจืดเฝื่อน      ย้ำเตือนเอาไว้
ทางยานั่นไซร้      แก้ไข้ไอเลือดฯ

๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
ใบอ่อนกะหล่ำปลี       รสชาติดีดับพิษหมก      
เป็ดน้ำยอดอ่อนดก      อีกบัวบกรสขมกล่อม
รสจืดมะละกอ         ใบอ่อนห่อผักกาดหอม      
ผักไทยธาตุไฟพร้อม      หยิบช้อนส้อมเปิบอิ่มพลันฯ

๔.
กลอน
(กลอน ๘)
ผักธาตุไฟรสขมจืดเย็นเฝื่อน
แม่ศรีเรือนเพื่อนครัวพึงสดับไว้
สรรพคุณดับพิษแก้ร้อนใน
วัณโรคไข้ไอขับปัสสาวะฯ

สนอง เสาทอง
สุรินทร์
11 พฤษภาคม 56


หมายเหตุ ;  
*ธาตุไฟ ควรรับประทานผัก รสขม จืด เย็น และเฝื่อนเย็น เช่น มะละกอ, บัวบก, กะหล่ำปลี, ผักเป็ดน้ำ และผักกาดหอม ฯลฯ
**มะละกอ ผลดิบ รสจืด ช่วยขับลม, ขับปัสสาวะ, แก้ขัดปัสสาวะ และขับพยาธิ
***บัวบก ใบรสขม มัน มีวิตามิน A และแคลเซียมสูง ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ และลดความดันโลหิต ฯลฯ
***ผักเป็ดน้ำ ยอดอ่อน รสจืดเย็น มีสารต้านอนุมูลอิสระ แก้วัณโรค และไอเป็นเลือด ฯลฯ
****ผักกาดหอม ใบอ่อน รสเฝื่อนเย็น ช่วยทำให้นอนหลับ, แก้ไข้, แก้ไอ, ขับปัสสาวะ และขับเหงื่อ ฯลฯ
*****กะหล่ำปลี ใบอ่อน รสจืด ดับพิษ, แก้ร้อนใน และกระหายน้ำ ฯลฯ


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 02 มิถุนายน 2013, 12:17:PM
หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)
   (๑๓)
กระตังใบ

๑.
โคลง
(โคลง ๔ สุภาพ)
กระตังใบพุ่มต้น      เตี้ยจริง
ต้างไก่ใหญ่ชื่ออิง      ถิ่นบ้าน
ใบแหลมย่อยแต้มกิ่ง      ก้านทั่ว
ดอกช่อผลแป้นป้าน      รากต้นพื้นบ้านยาฯ


๒.
ฉันท์
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
ต้างไก่ใหญ่ชื่อ      เลื่องลือรักษา
รากแห้งเป็นยา      ต้มดื่มรสเย็น
ยอดอ่อนฝาดลิ้ม   ผักจิ้มเคียงเล่น
ทั้งต้นล้วนเป็น      พื้นบ้านยาไทยฯ


๓.
กาพย์
(กาพย์ยานี ๑๑)
กระตัง-ต้างไก่ใหญ่       พบทั่วไปผักไทยถิ่น      
ไม้พุ่มขึ้นครึ้มดิน      ยอดอ่อนกินจิ้มพริกแดง
รากต้นล้วนประโยชน์      เลิศโอสถสรรพคุณแรง      
ใช้ร่วมอบเชยแห้ง      ฤทธิ์กำแหงผ่อนกล้ามเกร็งฯ


๔.
กลอน
(กลอน ๘)
รากกระตังตากแห้งต้มน้ำดื่ม      รสเย็นชื่นแก้ปวดขบเมื่อยล้า
ดับไข้ร้อนขับเหงื่อทั่วกายา         ผ่อนรักษาครั่นเนื้อคุดทะราดบิด
ใช้ทั้งต้นร่วมกับอบเชยนั้น      ระงับพลันกล้ามเนื้อคลายเกร็งฤทธิ์
ยอดอ่อนสวยฝาดเย็นมันนิดนิด      จิ้มน้ำพริกหลากชนิดสำรับเคียงฯ

 
สนอง เสาทอง
2 มิถุนายน 56


หมายเหตุ ;
*ชื่อสามัญ กระตังใบ
**ชื่อวิทยาศาสตร์ Leea indica Merr
***ชื่อพื้นถิ่น ต้างไก่ใหญ่
   ผักธาตุไฟ รสฝาด เย็น มัน เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก ใบประกอบย่อยรูปไข่ปลายแหลม ขอบจัก สีเขียวเข้ม ดอกมีขนาดเล็กสีน้ำตาลแดงรวมกันเป็นช่อดอก ผลขนาดเล็ก กลมแป้น ผลดิบสีเขียวอ่อนเมื่อสุกจะมีสีดำ ยอดอ่อนรสฝาดมันใช้กินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก
****สรรพคุณทางยา และวิธีใช้
   ราก-แห้ง รสเย็นต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ดับร้อน ขับเหงื่อ แก้บิด รักษาโรคคุดทะราด และครั่นเนื้อครั่นตัว
   ทั้งต้น-ใช้ร่วมกับอบเชย ต้มดื่มเป็นยาระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 02 มิถุนายน 2013, 11:01:PM
ศิลปิน
๑.
ชาติประทัดลั่นเปรี้ยง      เสียงดัง
ครู่หนึ่งป่นหายปัง      เปื่อยไร้
ฟ้ากระหึ่มแรงขลัง      ลั่นโลก
ถ้าผ่าเปรี้ยงไฟไหม้      อย่างร้ายแรงมหันต์ฯ
๒.
ประทัดนั้นเปรียบด้วย      ศิลปิน ปลอมนา
เย่อหยิ่งยโสสัตว์ถวิล      ว่าแก้ว
ปัญญาถ่อยมลทิน      โง่งั่ง
ทำอย่างเก่งเหลือแล้ว      เล่ห์ลิ้นหมาหอนฯ
๓.
ฟ้ากระหึ่มเปรียบด้วย      นักปราชญ์
เป็นจิตรกรเฉลียวฉลาด      ที่แท้
ผลงานบริสุทธิ์สะอาด      ยิ่งใหญ่
คุณค่าสะเทือนใจแล้      เล่ห์รุ้งมณีขลังฯ
๔.
ตรุษสิงโตเห่าเหี้ยม      แสนหาญ
เด็กย่อมถึงตะลึงลาน      ยิ่งแล้ว
สิงห์จริงอยู่หิมพานต์      สงบเสงี่ยม
นอนนิ่งสิงถ้ำแก้ว      ป่าฟ้ามไหศวรรย์ฯ
๕.
สิงห์ตรุษจีนนั่นไซร้      ศิลปิน ปลอมนา
ดูดั่งชาติพยัคฆา         ขู่ร้าย
ผลงานเล่ห์ลวงตา      ว่าใหม่
แท้ต่ำกากเดนได้         สู่รู้ขโมยเสนอฯ
๖.
สิงห์จริงนั้นเปรียบด้วย      นักปราชญ์
เชี่ยวชาญศิลป์สามารถ      ไม่แล้ว
ผลงานใหม่ประหลาด      เลิศค่า
ถึงสิ่งทิพย์เป็นแก้ว      แก่นแท้สะเทือนสมัยฯ
๗.
น้ำใสบริสุทธิ์ยิ่งนั้น      ขันติธรรม
ฤาโกรธตมทำระยำ      ต่ำช้า
ปัญญาไม่ครอบงำ      ความงั่ง
แสงสว่างโกรธมืดกล้า      กล่าวร้ายให้ไฉนฯ
๘.
ฟากฟ้านั้นไป่เปื้อน      เปรอะเมฆ
เมฆไม่เปรอะความวิเวก      แห่งฟ้า
ดวงดาวไป่รกเอก-      ภพเพ่ง งามนา
ฟ้าใช่คุกจันทร์จ้า      ป่าช้าดาวไฉนฯ
๙.
เจ้าแมงป่องร้ายแห่ง      อวิชชา
วารหนึ่งชูปัญญา      ขู่ฟ้า
พลันติดอยู่กับกะลา      เลวนั่น
ยึดมั่นตนเก่งกล้า      ฆ่าม้วยวิมุติสมัยฯ
๑๐.
ความไพศาลแห่งฟ้า      อวกาศ
สูงส่งกว้างไกลขนาด      ค่าไร้
ลึกซึ้งไม่สามารถ         มองค่า
ไกลกว่าสัตว์ดิบได้      ล่วงรู้ถวิลถึงฯ
๑๑.
น้ำใสซึ่งขุ่นไซร้         เสียศรี
มองไม่เห็นวิสุทธิ์ดี      ดั่งแก้ว
ปัญญาอย่าราคี         คาวงั่ง
ใจชั่งเฉกทิพย์แก้ว      เพริศแพร้ววิสุทธิ์เสมอฯ

อังคาร กัลยาณพงศ์
ปณิธานกวี, กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, กรุงเทพฯ, ศยาม, ๒๕๕๔, หน้า 87-89      



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 06 มิถุนายน 2013, 08:10:AM
หมานำเกวียน

   ตะขลุกตะขลักสะบักสะบอมกระมอมกระแมม
เมื่อไหร่หลังคาจะโผล่จะแพลม
หร็อมแหรมรำไรสักหลังสองหลัง
   เจียนจะถึงครึ่งของครึ่งของทางหรือยัง
เกวียนกระแทกก้นแทบจะพัง
ลุงตอบว่ายังยังอีกหน่อยอีกร้อยหมาเยี่ยว
   หมาตามเกวียนตามทางที่เคยเทียว
แวะดมดมยิ้มยิ้มแล้วก็เยี่ยว
ตะกุยกลบแล้วกรูเกรียวไปล่วงหน้าเป็นหมานำ
   ครูคนใหม่บ่นอะไรอยู่พร่ำพล่าม
มือพลางประคองรองเท้าคู่งาม
ด้วยความวิตกสงสารมันทั้งคู่
   หมานำวัว วัวนำเกวียน เกวียนนำครู
นำครูไปนำคนที่คอยครูอยู่
เด็กน้อยคอยดูว่ารอยเท้าครูจะหรูยังไง
   ถึงจะนานแต่หมู่บ้านก็อยู่ข้างหน้า
หมานำเกวียนยังเริงร่า
แต่ครูส่ายหน้าทำท่าเหมือนจะร้องไห้
   ครูบ่นซ้ำซ้ำว่ากรรมของกูกรรมของกู
ลุงขับเกวียนใจหดหู่
น้ำใจของครูสู้หมาของกูไม่ได้
   เดี๋ยวพ่อไล่ลงเสียที่หัวดงทับทิม
ให้เดินสักสิบห้าหมายิ้มซะเป็นไง


ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, หมานำเกวียน, มือนั้นสีขาว, รวมบทกวีรางวัลซีไรต์ประจำปี 2535, พิมพ์ครั้งที่ 7,กรุงเทพฯ, สามัญชน, 2552, หน้า 34


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 07 มิถุนายน 2013, 05:37:PM
***************************************************************************

***ตั้งใจเขียนกลอนพืชสมุนไพรยาพื้นบ้านไทย ทั้งเพื่อเป็นวิทยาทาน และวางแผนจะทำการปรับปรุงขัดเกลาใหม่เพื่อรวมเล่มต่อไป ทนอ่านหน่อย “ความรู้มักเป็นยาขมหม้อใหญ่ เสพกลืนยาก” เสมอๆ***

***************************************************************************

หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)

   (๑๒)

กลุ่มพืชสมุนไพรยาถ่ายพยาธิ
   ๑.
ผลมะเกลือ


๑.
โคลง

มะเกลือไม้ใหญ่ต้น         กว้างใบ
พบอยู่ทุกภาคไทย         ทั่วถ้วน
ผีเผานั่นเจียงใหม่         อู้ว่า
เกลือมะเกียชื่อล้วน         ต่างพื้นถิ่นเรียกฯ

๒.
ฉันท์

บักเกียผีเผา            เฝื่อนเมารสชาติ
ผลสดฤทธิ์ธาตุ            ฆ่าม้วยปากขอ
ตัวตืดเข็มหมุด            ถ่ายหลุดไม่รอ
ลูกห่ามแก่พอ            ท่านใช้เป็นยาฯ

๓.
กาพย์

มักเกลือคนตราด          รู้แจ่มชัดถ่ายพยาธิ
เข็มหมุดตัวตืดขยาด         เขี้ยวดูดกัดเรียกปากขอ      
ขี้กระตืกอีสานเอิ้น         ลำไส้เยินเกาะเต็มออ
ถ่ายพยาธิเถิดแม่พ่อ         กะทิคลอแก้ขมเฝื่อนฯ

๔.
กลอน

   ผลมะเกลือห่ามสดไม่ดำช้ำ         ให้ปองจำใช้เท่าเราอายุ
อย่าเกิน-ยี่สิบห้าลูก-ท่านระบุ            ใส่ครกตำปุปุพอแหลกดี
   ต่อจากนั้นกะทิเนื้อมะพร้าว         ให้คั้นเอามารวมตำถี่ถี่
ส่วนผสมต้องได้กะพอดี            กลบรสเฝื่อนขมปี๋ไม่คล่องกลืน
   หลับสองตากลั้นใจขืนลงท้อง         จิตใจต้องเข้มเต็มเฝื่อนกล้ำฝืน
กะพอคำกลืนง่ายไม่อ้วกคืน            พอตกท้องพยาธิตื่นหนีพัลวัล
   กะเวลาถ่ายยาให้พอเหมาะ         ป่าละเมาะห้องน้ำได้ทั้งนั้น
ตอนถ่ายท้องหน้าซีดอยู่ครึ่งวัน         ข้าวอาหารพึงงดกินจุบจิบ
   ข้อระวังมะเกลือถ่ายพยาธิ         ห้ามเด็ดขาดเด็กเล็กต่ำขวบสิบ      
หญิงตั้งครรภ์, หลังคลอด-ไม่ควรรีบ         อย่าหักดิบรอก่อนให้แข็งแรง
   หากตอนถ่ายท้องเดินหลายมากครั้ง      พึงระวังอาการตาพร่าแข็ง
หรือไข้ใดแทรกซ้อนผิดสำแดง         อย่าฝืนตนดื้อแพ่งแจ้งหมอพลันฯ


***************************************************************************

หมายเหตุ ;
*ชื่อทั่วไป มะเกลือ, บักเกีย (อีสาน), มะเกีย, มักเกลือ (ตราด), ลูกเกลือ (ใต้), ผีเผา (เหนือ)
*ส่วนที่ใช้ ผลสดโตเต็มที่ (ยังไม่สุก)
*ขนาด จำนวนเท่าอายุ แต่ไม่เกิน 25 ลูก
*ส่วนผสม ลูกมะเกลือ และน้ำกระทิมะพร้าวคั้นสด กะเอาพอกลบรสเฝื่อนขม
*ข้อบ่งใช้ ควรรับประทานขณะท้องว่าง และมีเวลามากพอที่จะถ่ายท้องหลายๆ ครั้ง
*ใช้ได้ผลดีกับ พยาธิปากขอ, ตัวตืด และเข็มหมุด
*ข้อควรระวัง
1. ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ
2. ห้ามใช้กับผู้หญิงตั้งครรภ์, หลังคลอดใหม่ๆ และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ยังมีอาการป่วยอยู่
3. ระวังอย่าใช้เกินขนาด
4. หากเกิดอาการท้องเดินหลายๆ ครั้ง และมีอาการหน้ามืด ตาพร่ามัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


***************************************************************************
สนอง เสาทอง
7 มิถุนายน 56



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 09 มิถุนายน 2013, 03:12:PM
เปิบข้าว
(กาพย์ยานี ๑๑)
ผู้ประพันธ์ : จิตร ภูมิศักดิ์
วง กรรมมาชน เคยนำมาร้องครั้งแรกแต่ไม่เป็นที่นิยม จากนั้น สุรชัย จันทิมาธร และวงคาราวานนำมาเรียบเรียงดนตรีทำใหม่จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย


 
เปิบข้าวทุกคราวคำ         จงสูจำเป็นอาจินต์
เหงื่อกูที่สูกิน         จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้ นะมีรส         ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังซิทุกข์ทน      และขมขื่นจนเคียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง      ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว      ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด      ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น      จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง      และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น      ที่สูซดกำซาบฟัน

***ในวาระที่ได้คะแนนเกิน 100 อยากโพสต์กาพย์ยานี ๑๑ "เปิบข้าว" ที่ทำให้ผมรู้จักกาพย์ชนิดนี้และชอบเขียนมากๆ

สนอง เสาทอง
9 มิถุนา 56


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: เนิน จำราย ที่ 09 มิถุนายน 2013, 04:07:PM
         

        ๐สายเลือดเริ่มเหือดหาย    หลังจูงควายเข้าโรงเชือด
จำนำมันทำเดือด    มากด้วยเรือดแหละแร้งกา

        ๐จ้างดำซ้ำจ้างไถ   เหลืออะไรถึงตัวข้า
หน้าฝนฝนไม่มา    ชลประทานประทานแดด

        ๐ใส่ปุ๋ยขุดคุ้ยดิน    เงินก็สิ้นหลายสีแสด
หน้าด้านเหมือนหนังแรด     ดูกสันหลังคดโค้งงอ

        ๐ชาติช่วยต้องช่วยชาติ    ถึงคอขาดยากร้องขอ
คนดีที่หัวร่อ     เขาคือใครช่วยไขที

                          เนิน จำนำ



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 02 กรกฎาคม 2013, 11:02:AM
***************************************************************************

***ตั้งใจเขียนกลอนพืชสมุนไพรยาพื้นบ้านไทย ทั้งเพื่อเป็นวิทยาทาน และวางแผนจะทำการปรับปรุงขัดเกลาใหม่เพื่อรวมเล่มต่อไป ทนอ่านหน่อย “ความรู้มักเป็นยาขมหม้อใหญ่ เสพกลืนยาก” เสมอๆ***

***************************************************************************

หอมวรรณศิลป์
(โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)

   (๑๓)

กลุ่มพืชสมุนไพรยาถ่ายพยาธิ
   ๒.
มะหาด

๑.
โคลง

มะหาดต้นพบขึ้น              ทั่วไทย
ผงปวกหาดทำง่าย            แก่นไม้
ต้มลงเคี่ยวช้อนไว้            แดดผึ่ง
แห้งฝุ่นเหลืองเก็บใช้         ฤทธิ์ร้ายถ่ายพยาธิฯ

๒.
ฉันท์

ชื่อหาดตาแป                      กาแยนั้นใช่
หรือหาดใบใหญ่                  ตาแปงหมากหนุน
เอาแก่นต้มเคี่ยว                 พอเหนียวงวดขุ่น
ตากแห้งผงฝุ่น                    ได้ผงปวกหาดฯ

๓.
กาพย์

มะหาดพืชสมุนไพร               ไม้ต้นใหญ่พบทุกภาค
แก่นเคี่ยวผึ่งแห้งตาก             ไม่ลำบากเหลือฝุ่นผง     
ปวกหาดผงสีเหลือง               ขมังเอาเรื่องในประสงค์
ถ่ายพยาธินั้นเจาะจง              ตัวตืดปลงดิ้นวางวายฯ

๔.
กลอน

     แก่นมะหาดต้มเคี่ยวหม้อเดือดน้ำ           ช้อนฟองนำผึ่งแดดทิ้งให้แห้ง
ผงสีเหลืองป่นฝุ่นฤทธิ์ยาแรง                        แล้วจัดแจงเร่งหาลูกมะนาว
     ผงปวกหาดแห้งสนิทหนึ่งช้อนโต๊ะ         ใส่ลงโปะกับน้ำมะนาวขาว
หรือใส่หลอดข้าวเหนียวแท่งยาว-ยาว            กินหมดคราวครั้งเดียวไม่ต้องปัน
     ตามตำราให้กินตอนท้องว่าง                 ใช้ควบยาถ่ายล้างขลังมหันต์
เช่นดีเกลือสองช้อนตวงมาพลัน                  ใช้ร่วมกันขมังสรรพคุณ
     ผงปวกหาดฆ่าพยาธิได้จำกัด                ท่านเคร่งครัดตัวตืดเมาหัวหมุน
พยาธิอื่นแค่มึนหนีชุลมุน                            หากเคยคุ้นมีบ้างอาจดื้อยา
     ผงปวกหาดหากใช้เพื่อหวังผล               ควบระคนใช้กับยาอื่นหนา
เช่นกินหลังดีเกลือฤทธิ์ถ่ายพา                      ไม่เนิ่นช้ากวาดพยาธิหมดไส้ลำฯ


***************************************************************************

หมายเหตุ ;
*ชื่อทั่วไป มะหาด, หาด, หาดขนุน, กาแย, ตาแป, ตาแปง, หาดใบใหญ่ (ตรัง)
*ส่วนที่ใช้ ผงปวกหาด หรือ ปวกหาด ทำได้ง่ายๆ เอาแก่นไม้มะหาดมาตั้งไฟเคี่ยวกับน้ำเดือดแรงจนงวด จะมีฟองเกิดขึ้น ช้อนเอาฟองมาตากแห้ง จะได้เป็นผงสีเหลือง เรียกฝุ่นปวกหาด หรือผงปวกหาด
*ขนาด ผงปวกหาด 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือประมาณ 3-4 กรัม
*ส่วนผสม กินกับน้ำมะนาว หรือใส่ลงในหลอดข้าวเหนียวกินครั้งเดียวหมดทั้งหลอด
*ข้อบ่งใช้ รับประทานทั้งหลอดขณะท้องว่าง หลังจากกินยาถ่ายตัวอื่น เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ โดยรับประทานผงมะหาดผสมมะนาวหลังจากกินดีเกลือแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง
*ใช้ได้ผลดีกับ พยาธิตัวตืด เท่านั้น

***************************************************************************
สนอง เสาทอง
2 กรกฎาคม 56


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 03 กรกฎาคม 2013, 06:24:PM
         

        ๐สายเลือดเริ่มเหือดหาย    หลังจูงควายเข้าโรงเชือด
จำนำมันทำเดือด    มากด้วยเรือดแหละแร้งกา

        ๐จ้างดำซ้ำจ้างไถ   เหลืออะไรถึงตัวข้า
หน้าฝนฝนไม่มา    ชลประทานประทานแดด

        ๐ใส่ปุ๋ยขุดคุ้ยดิน    เงินก็สิ้นหลายสีแสด
หน้าด้านเหมือนหนังแรด     ดูกสันหลังคดโค้งงอ

        ๐ชาติช่วยต้องช่วยชาติ    ถึงคอขาดยากร้องขอ
คนดีที่หัวร่อ     เขาคือใครช่วยไขที

                          เนิน จำนำ



(อ้างถึง)

ชาวนารุ่นปู่ย่า

ชนสามัญเผ่าเชื้อ            ชาวนา
สืบเนื่องภูมิปัญญา            ปลูกข้าว
ลำบากเทวษหนักสา         หัสทุกข์ ยิ่งพ่อ
บ่สบสุขเรื้อเศร้า            อาบเคล้าชลนัยน์ฯ

แต่ปู่ทวดย่าครั้ง            นานนม
หลังตากแดดไถงห่ม            ค่ำเช้า
ควายทุยลากไถจม            พื้นทุ่ง
แปรเปลือกดินผาลห้าว         พลิกพร้อมตกกล้าฯ

ครั้นเติบกล้าใหญ่ต้น         เหมาะดำ
ก้มกอบมือถอนกำ            มัดกล้า
กล้ามัดหาบคอนย่ำ            ลัดลิ่ว
ดุ่มสู่นาห้องล้า            ฝืดพื้นหนืดตมฯ

ดำกล้าข้าวหมดถ้วน         แปลงนา
อนาถพึ่งโชคชะตา            เซ่นไหว้
บวงสรวงวิรุณฟ้า            เหล้าไก่ พลีนา
ให้ดื่นฝนแล้งไร้            ฉ่ำเลี้ยงข้าวงามฯ

ลมข้าวเบาช่วงต้น            หนาวระบัด
ข้าวปริช่อกำดัด            แรกท้อง
น้ำนาเคร่งแจงจัด            ทิ้งถ่าย บ้างเฮย
ผิพร่องน้ำบ่คล้อง            ท่วมแห้งแสลงผลฯ

ออกพรรษาเกี่ยวฟ้อน         ข้าวเบา
ข้าวหนักรอก่อนราว            ยี่น้อย*
อาจหลังก่อนนานยาว         ข้าวต่าง ชนิดนา
ช้าสุดอาจเนิ่นคล้อย            ยี่สิ้นจันทร์ดับฯ**

ยามเสร็จถ้วนเกี่ยวแล้ว         ข้าวรวง
เถ้าแก่โรงสีตวง            หักหนี้
ปุ๋ยยาค่าอื่นพ่วง            ใช้จ่าย
ท้ายสุดขายป่นปี้            หมดข้าวสิ้นลานฯ


***ชาวนาไทยไม่ว่าสมัยไหนก็ประสบชะตากรรมเช่นนี้ทั้งสิ้น

*เดือนยี่ ตามปฏิทินทางจันทรคติของไทยก็ตกประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ยี่น้อย แถวฉะเชิงเทราบ้านผมหมายถึงต้นธันวาคม เทียบเคียง วันพระน้อย คือวันก่อนวันพระ (ใหญ่) หนึ่งวัน ที่หลายแห่งเรียกวันโกน

**วันจันทร์ดับ อาจเป็นวันแรม 14-15 ค่ำ หรือขึ้น 1 ค่ำก็ได้ (มีโอกาส ราว 50%) การดูจันทร์เพ็ญอย่างง่ายในเขตร้อน เช่นประเทศไทย ให้ดูเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดังนี้
(1). ถ้าคืนนั้นดวงจันทร์ยังไม่ดับ จะไม่เห็นดวงจันทร์เลย เพราะดวงจันทร์ตกขอบฟ้าไปก่อนดวงอาทิตย์ เช่น วันแรม 13-14-15 ค่ำ
(2). ถ้าคืนนั้นเป็นคืนจันทร์ดับพอดี อาจไม่เห็นดวงจันทร์ก็ได้ เพราะดวงจันทร์จะตกไล่เลี่ยกับดวงอาทิตย์ คือตกก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ไม่เกิน ครึ่งชั่วโมง เช่น แรม 14-15 ค่ำ  ขึ้น 1 ค่ำ
(3). ถ้าคืนนั้นเป็นคืนอมาวสี (จันทร์ดับ) คือ คืนถัดจากคืนจันทร์ดับ จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางๆ หงายท้อง และตกตามหลังดวงอาทิตย์ไป ราว 1/2 ชั่วโมง เช่น ขึ้น 2 ค่ำ (อาจเป็นขึ้น 1 ค่ำก็ได้ ในบางเดือน)
ในที่นี้หมายถึงสิ้นเดือนยี่และขึ้น 1 ค่ำ (อาจประมาณมกราคม)


สนอง เสาทอง
3 กรกฎาคม 56



หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 05 กรกฎาคม 2013, 12:04:AM
เซ็นซามูไร ๑.

     นี่หรือท่านผู้กาจ              กล้าทะนง
นามท่านอยู่ยืนยง               บัดนี้
แก่หง่อมย่อมโอ่องค์             อาจอวด
สิ้นยุคท่านแล้วลี้                หลีกไป

     ไยนิ่งอยู่นั้นเล่า               นักเลง
ผิเก่งเพลงต่อเพลง             ก็ได้
อย่าให้ยุ่งอลเวง                   ที่นี่
แนะ! เกาะกลางน้ำใกล้         เกือบถึง

     เรือหนึ่งลอยข้ามท่า       วารี
คนหมู่มากมี                       มุ่งล้อม
นักเลงใหม่ท้าตี                   คนเก่า
เอะอะมะเทิ่งห้อม               ข่มเหง

     นักเลงเก่ารับท้า             ทันใด
เรือวาดเหหัวไป                  ไป่ห้าม
ใกล้ถึงเกาะกลางไกล          จากฝั่ง
คนหมู่โดยสารข้าม             ไขว่ชม

     ผู้ท้าข่มข้ามเฒ่า             โดดพลัน
ขึ้นเกาะชักดาบกระสัน          เสือกใกล้
ผู้เฒ่าถีบเรือหัน                   ห่างเกาะ
ปล่อยนักเลงเด็กไว้             วัดผล


*พิมพ์ครั้งแรก วิทยาสารปริทัศน์

**เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, เซ็นซามูไร ๑, กวีนิพนธ์ซีไรต์ ๒๕๒๓ เพียงความเคลื่อนไหว, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, เกี้ยว-เกล้า-พิมพการ, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๒, หน้า ๙๕


หัวข้อ: Re: เขาว่ากวีตายแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: choy ที่ 07 สิงหาคม 2013, 07:35:PM
ปลูกต้นกวีหวังดอกหอม

        เพียรถนอมเฝ้าปลูกต้น      ดอกกวี
สู้ประหงมพัดวี                           ค่ำเช้า
หวังเชยชื่นกล่อมฤดี                กลีบช่อ
สะพรั่งลออหอมเคล้า                 ตรลบห้วงหฤทัยฯ

        ถนิมสร้อยแต่เพาะกล้า     พันธุ์กวี
เทียวรดน้ำฤดี                           ภักดิ์พร้อง
ผิต้นกว่าดอกคลี่                      ช้ายิ่ง บานนา
หนอนไหน่แมลงจ้อง               บ่อนทึ้งทำลายฯ

        ต้นกวีขืนหยัดต้น             กว่าโต
นานอยู่มากอักโข                     พะเน้า
เช้าค่ำไม่โยกโย้                        เกี่ยงบ่าย
ใจใส่หมายเติบเจ้า                    ผลิอะร้าดอกงามฯ

        ต้นเติบใหญ่ช่อสล้าง         กวีผกา
บานแบ่งหอมเพ็ญค่า                 ยิ่งแพร้ว
กลับใครอื่นมิจฉา                     ร้ายจริต
เข้าปลิดดอกสิ้นแล้ว               ร่วงพื้นเกลื่อนดินฯ

         แสนระกำเทวษแท้        ดอกกวี
ถูกส่ำมนุษย์ย่ำยี                      ช่อเจ้า
กลีบพราวร่วงกลายผี             ซากดื่น
อยู่กล่นพื้นฤทัยร้าว               พร่ำไห้ครวญถวิลฯ
 
        จึงตัดแต่งกิ่งก้าน          ไร้ดอก
ใดยับช้ำใบชอก                    ปลิดทิ้ง
ดัดงามพุ่มในนอก                 เข้ารูป
เผื่อพรุ่งชุบเจ้าพริ้ง               ดอกสล้างบานหอมฯ

สนอง เสาทอง