พิมพ์หน้านี้ - เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => ให้เพื่อนๆช่วยติชมกลอนที่แต่ง => ข้อความที่เริ่มโดย: อริญชย์ ที่ 04 กันยายน 2012, 12:22:PM



หัวข้อ: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: อริญชย์ ที่ 04 กันยายน 2012, 12:22:PM
                  เพลงลูกทุ่งไทย

โคลงสี่สุภาพ

เพลงไทยลูกทุ่งนี้…………….ผดุงแดน
เป็นสื่อภาษาแสน……........โอบเอื้อ
สำนวนไม่คลอนแคลน……...ควรค่า
คงเด่นเรืองอะเคื้อ…………...ปลั่งแก้วพจนา ฯะ

ภาษาท้องถิ่นล้วน…………….ตรึงใจ
เป็นสื่อถึงความใน……………เอ่ยเอื้อน
หลากหลายบ่งบอกไทย…….งามเด่น
หาใช่คำเลื่อนเปื้อน………….มุ่งร้ายประจานจม ฯะ

หอมไอดินกลิ่นหญ้า……….แดนดง
แสงส่องศิขรลง………………ค่ำคล้อย
เพลงหวานกล่อมไพรพง….หรีดหริ่ง
ทิวทุ่งรักเรียงร้อย…………..ช่อข้าวเรืองวิไล ฯะ

วัยเยาว์เคยซ่านซึ้ง……….เพลงไทย
โดยบ่ทราบคือใคร………..ร่ำร้อง
เพียงคลอเล่นตามไป…….ชอบยิ่ง
เพลงกล่อมกังวานก้อง…..ปลุกกล้าใจทะนง ฯะ

คำโคลงงามแจ่มแจ้ง.......ควรคง
โดดเด่นความหมายตรง....ค่าล้ำ
ภาษาถิ่นยืนยง..............ยอดเยี่ยม
เป็นสิ่งอันควรค้ำ...........เอ่ยอ้างภูมิใจ ฯะ

                                      อริญชย์
                                  ๔/๙/๒๕๕๕



ปล.เป็นการแต่งโคลงสมัครเล่น ประกอบเพลงลูกทุ่งเก่าที่นำมาลงในกระทู้ก่อนหน้านี้  อยากให้ผู้รู้ช่วยวิจารณ์ ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกันฮะ

-ขอขอบคุณทุกท่านล่วงหน้าที่ร่วมชี้แนะแนวทางการแต่งโคลงให้สละสลวยกว่าเดิม

                                         



 emo_107 emo_47 emo_107


หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 04 กันยายน 2012, 06:55:PM
หุๆ แหมกำลังนึกห่วงว่า วันนี้ตูข้าจะเหงามือไหม
ขอบคุณ อริญชย์ มากๆ ที่ช่วยให้ไม่สมองฝ่อ

อ่านดูแล้ว ทั่วๆ ไป ดีนี่ครับ กฎเกณฑ์ สะกดคำถูกต้อง โคลงทั้งหมดก็สอดรับกันดี
ผู้อ่านน่าจะได้ รับสาร ที่ผู้แต่งประสงค์สื่อให้ ต้องตรงกัน


อ้าว แล้วเหลืออะไรให้แนะหรือ ??? อ๋อ ยังมีอีกนิด (ขออนุญาตลงซ้ำ)

๑ ปกติ โคลง ไม่บังคับให้ต้อง ส่งสัมผัส ถ้าจะแสดงฝีมือก็ทำได้
โดยยึดหลักแบบ แต่งลิลิต (ส่งสัมผัสคำท้ายสุด ไปรับสัมผัส คำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ บทถัดไป)

(ถ้าเป็น โคลงดั้น ซึ่งปกติบังคับให้แต่ง ๒ บท ต้อง ส่ง-รับ สัมผัสตามกฎของโคลงดั้นนั้นๆ )

๒ คำท้ายสุดของบท ต้องเป็นเสียง สามัญ หรือ จัตวา (แนะเสียงจัตวา)

๓ ส่งสัมผัส (สัมผัสสระ หรือ สัมผัสอักษร) คำท้ายวรรคส่วนแรก ไป คำต้นวรรคส่วนหลัง ซึ่งปรากฏแล้วในบางบท

สำนวนไม่คลอนแคลน……...ควรค่า

ภาษาถิ่นยืนยง..............ยอดเยี่ยม

๔ ถ้าแต่งหลายๆ บท แนะให้สอดแทรก โคลงสอง โคลงสาม สลับ (กรณีนี้ แนะให้ ส่งสัมผัส)

๕ ถ้าแต่งเป็นเรื่องเป็นราว ยาวหลายๆ บท ให้ยึดหลักเดียวกับ ร้อยแก้ว คือมี ส่วนเกริ่นนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และ ส่วนสรุป


ขอบคุณมากครับ ผมชอบการ ฉีกแนว เป็นประเด็นหลากหลายของ คุณอริญชย์ มากๆ


หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: อริญชย์ ที่ 13 กันยายน 2012, 02:34:PM
               เสียงเพลงถิ่นพงไพร

โคลงสี่สุภาพ

สายธารไหลหล่อเลี้ยง………มวลประชา
สายแห่งความเมตตา………..โอบแคว้น
สายรุ้งพร่างธารา……………..เพชรพุ่ง
สายป่านรักแน่นแฟ้น………..ลุ่มน้ำโขงงาม ฯ

เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย……คงทน
โคเคลื่อนหมุนนำวน………..หมื่นลี้
พอกาลเปลี่ยนมียนต์………..ยุคใหม่ ขับเฮย
เกวียนแกร่งงามบัดนี้………..เก่าไร้คนประสงค์ ฯ

แสงทองทาบทุ่งข้าว………….เรืองวิไล
นกกล่อมกังวานไกล………….ว่อนคุ้ง
เสียงเพลงถิ่นพงไพร………….บอกกล่าว
เป็นสื่อฮักสายรุ้ง……………...แน่นแฟ้นพิสมัย ฯ

เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ

มนต์เสียงพิณแผ่วพลิ้ว………..องคุลี
ปานดั่งทิพย์เทพกวี…………….กล่อมย้ำ
สายธารแห่งดนตรี……………..บอกถิ่น เฮาเอย
เพลงคู่พิณหวานล้ำ…………….รุ่งรุ้ง ผงาดแดน ฯ

โคลงตรีพิธพรรณ

แสงเรืองรองส่องฟ้า…………เฉิดฉัน
เสียงไก่ขันตามกาล………….รุ่งแล้ว
เรไรต่างรำพัน………………..ขับกล่อม
เพลงแห่งหวังผ่องแผ้ว………ทุ่งข้าวคือสถาน ฯ
                                           
                                            อริญชย์
                                         ๑๓/๙/๒๕๕๕



ขอคำชี้แนะ คำวิจารณ์ เรื่องเกี่ยวกับสำนวนโคลง  จากผู้รู้ทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้  ขอขอบคุณทุกท่าน



 emo_107 emo_47 emo_107


หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: ค.คนธรรพ์ ที่ 13 กันยายน 2012, 06:42:PM
ในส่วนของฉันทลักษณ์  อริญชย์ทำได้ดีแล้ว         
ผมจะขอพูดเจาะจงที่เนื้อหาของบทกวีโดยมีประเด็นดังนี้

๑ การเรียบเรียงเรื่องราว
๒ การใช้คำ
๓ กวีโวหาร

๑ การเรียบเรียงเรื่องราว

ความท้าทายประการหนึ่งของโคลงสี่สุภาพ ก็คือ ในการแต่งโคลงหนึ่งบทต้องปิดเรื่องให้ได้       
ผู้แต่งโคลงต้องนำเรื่องราวที่รจนาไว้ในบาท๑ ถึง บาท๔ มาผูกโยงให้มีเหตุผลสอดรับกัน
โดยความหมายทั้งหมดในแต่ละบาทจะถูกนำมาขมวดไว้ที่บาท๔       
และบาท๔ นี้เองที่เป็นข้อสรุป  สร้างความแจ่มกระจ่างแก่ผู้อ่านให้ทราบแก่นคิดหรือสารสำคัญที่นักกวีต้องการประกาศให้รู้             
ขออธิบายอย่างรวบรัด   ใครที่เคยอ่านโคลงโลกนิติ  จะเข้าใจความข้อนี้ได้ไม่ยาก
   
๏ นาคีมีพิษเพี้ยง   สุริโย                        กล่าวถึง งู
เลื้อยบ่ทำเดโช     แช่มช้า                      บอกลักษณะ
พิษน้อยหยิ่งโยโส   แมลงป่อง                  กล่าวถึง แมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า        อวดอ้างฤทธี๚ะ๛       สรุป  ไม่ควรเป็นคนโอ้อวด 
     
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเปรียบการแต่งโคลง คือ วิธีพิสูจน์ประพจน์ในวิชาตรรกศาสตร์ก็น่าจะได้
การที่ผู้แต่งขมวดประเด็นไว้ที่บาท๔  จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่คั่งค้าง อ่านแล้วจบในบทโคลงนั่นเอง     
ที่นี้เรามาดูกันว่า บทกวีเสียงเพลงถิ่นพงไพร อริญชย์ปิดเรื่องได้หรือไม่

บท๒

เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย……คงทน
โคเคลื่อนหมุนนำวน……….หมื่นลี้
บรรทุกสิ่งของคน…………...แทบโก่ง เพลาเฮย       
ยังแต่กาลบัดนี้……………...เพื่ออ้างงามสงวน ฯ         บาทนี้ อ่านแล้วไม่เข้าใจ ปิดเรื่องไม่ได้

นอกจากนี้ การเรียบร้อยโคลงให้เป็นเรื่องราว จำเป็นต้องอาศัยโครงเรื่อง
เพื่อช่วยให้ผู้แต่งสามารถบรรจุเนื้อหาที่นำเสนอได้ง่ายขึ้น  ทำให้เรื่องราวในบทกวีรุกคืบไปข้างหน้าจนจบ     
โครงเรื่อง ก็คือ  ลำดับเหตุการณ์ซึ่งผู้แต่งกำหนดขึ้นตามจินตนาการของตนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร     
เป็นกรอบความคิดไว้บรรจุเนื้อหาทำให้ท้องเรื่องดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ           

โครงเรื่องของบทกวีเสียงเพลงถิ่นพงไพรกล่าวถึง ท้องถิ่นสงบสุขแห่งหนึ่ง ณ ลุ่มแม่น้ำโขงในครั้งอดีต 
ชายหนุ่มผู้หนึ่ง (มีแต่เสียงแต่ไม่ปรากฏตัวในบทกวี)  ขึ้นขับเกวียนบรรทุกสัมภาระ
เดินทางไกลไปหาหญิงสาวคนรักที่พลัดพรากจากกัน   
ตลอดเส้นทางที่ผ่านธรรมชาติอันงดงาม   
ชายหนุ่มได้บรรเลงพิณและขับลำนำเพื่อคลายความคิดถึงหญิงคนรักของเขา

เมื่อเราจับโครงเรื่องได้แล้ว  ก็จะมองเห็นภาพรวมของบทกวีที่อาศัยโคลงสี่สุภาพเพียงห้าบทก็เพียงพอแล้ว
ที่จะถ่ายทอดเนื้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามโครงเรื่องที่วางไว้       
ส่วนโคลงตรีพิธพรรณที่ผู้แต่งนำมาแทรกตอนจบนั้น
อยู่นอกโครงเรื่อง  จึงสามารถตัดทิ้งได้

 โคลงตรีพิธพรรณ    ตัดทิ้งได้   

แสงเรืองรองส่องฟ้า…………เฉิดฉัน
เสียงไก่ขันตามกาล………….รุ่งแล้ว
เรไรต่างรำพัน………………..ขับกล่อม
เพลงแห่งหวังผ่องแผ้ว………ทุ่งข้าวคือสถาน ฯ

ความเข้าใจในโครงเรื่องนี้  จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถวิเคราะห์ได้ว่า
ผู้แต่งควรใช้กวีโวหารเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับเรื่องราว 
ข้อนี้เป็นประเด็นที่จะกล่าวเป็นหัวข้อสุดท้าย

พรุ่งนี้จบ

เพื่อนนักกลอนที่เห็นต่างออกไป โต้แย้งได้เลยนะครับเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ

 emo_126



หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: พยัญเสมอ ที่ 13 กันยายน 2012, 10:01:PM




ผมอ่านตามที่ คนทัน   วิจารณ์แล้ว  ก็เห็นว่าเขาสรูปดีแล้วนี่ครับ


ยังแต่กาลบัดนี้……………...เพื่ออ้างงามสงวน ฯ  

ก็หมายความว่า  เดี๋ยวนี้ เหลือไว้แค่เป็นตัวอย่างของมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น(มีไว้โชว์)  ไม่ได้ใช้งานจริงแล้ว

 ทำไมถึงบอกว่าไม่ได้สรูปอีกเล่าครับ

                 emo_85


หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: ค.คนธรรพ์ ที่ 14 กันยายน 2012, 07:41:AM




ผมอ่านตามที่ คนทัน   วิจารณ์แล้ว  ก็เห็นว่าเขาสรูปดีแล้วนี่ครับ


ยังแต่กาลบัดนี้……………...เพื่ออ้างงามสงวน ฯ  

ก็หมายความว่า  เดี๋ยวนี้ เหลือไว้แค่เป็นตัวอย่างของมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น(มีไว้โชว์)  ไม่ได้ใช้งานจริงแล้ว

 ทำไมถึงบอกว่าไม่ได้สรูปอีกเล่าครับ

                 emo_85


ความหมายยังไม่ชัดเจนนะครับ

งามสงวน หมายถึง หญิงสาว ไม่ใช่มรดกทางวัฒนธรรม
ผมไม่แน่ใจ ยังนึกบทกลอนไม่ออก
แต่รู้สึกว่าเป็นคำที่ท่านภู่ใช้อยู่บ่อย

หากสื่อความหมายตามที่คุณมือขวาถอดความ
ผู้แต่งก็น่าจะเขียนทำนองว่า

เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย……คงทน
โคเคลื่อนหมุนนำวน……….หมื่นลี้
บรรทุกสิ่งของคน…………...แทบโก่ง เพลาเฮย       
ค่าบุพกาลบัดนี้        เก่ารู้รักษา ฯ

ถึงกระนั้น ก็สรุปได้ไม่ดี เพราะว่าตัวบทขาดสัมพันธภาพ
ผู้แต่งเปิดเรื่องออกเดินทาง แล้วลงท้ายที่การรักษาวิถีชุมชน

ประเด็นนี้ ผมจะขอกล่าวต่อในบทวิจารณ์

คนทัน



หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: ค.คนธรรพ์ ที่ 15 กันยายน 2012, 07:09:PM

๒ การใช้คำ
ผู้แต่งใช้คำอยู่ในกลุ่มคำไทยเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ แคว้น คุ้ง ลุ่มน้ำ คน ไก่ นก เกวียน พงไพร เพรง เพลง แผ่ว พลิ้ว กล่อม เป็นต้น
ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาท้องถิ่นไทยในอดีตเป็นอย่างดี
แต่หากผู้แต่งถนัดภาษาพื้นบ้าน  เพิ่มคำพื้นที่ราบสูงอีกหน่อย (ในบทกวีมีสองคำ  ฮัก เฮา)
ให้ข้าวเหนียวปลาร้าโชยกลิ่นอ่อนๆ ก็จะได้บรรยากาศท้องถิ่นอีสานมากยิ่งขึ้น

ในบทกวีปรากฏคำซ้ำบ่อยเกินไป  ข้อนี้อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นผู้อับจนถ้อยคำ 
ดังนั้นในความทรงจำของนักกวีจึงต้องมีคำศัพท์ให้เลือกสรรอยู่มากเพียงพอ
เป็นคลังคำในสมองที่สั่งสมมาจากการฟังพูดอ่านเขียน
มิฉะนั้นก็ต้องพึ่งหนังสือคลังคำและพจนานุกรมข้างกายโดยสามารถเลือกเฟ้นคำได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง


เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ

มนต์เสียงพิณแผ่วพลิ้ว………..องคุลี
ปานดั่งทิพย์เทพกวี…………….กล่อมย้ำ
สายธารแห่งดนตรี……………..บอกถิ่น เฮาเอย
เพลงคู่พิณหวานล้ำ…………….รุ่งรุ้ง ผงาดแดน ฯ

การส่งสัมผัสสระซ้ำบาทแรกติดกันสองบท  ผู้วิจารณ์ในฐานะมือโคลงรู้สึกว่า  เสียงของบทกวีอ่อนกำลังทำให้ความไพเราะน้อยลง
   

แสงทองทาบทุ่งข้าว………….เรืองวิไล              ส่งสัมผัสสระไอซ้ำติดกันสองบท
นกกล่อมกังวานไกล………….ว่อนคุ้ง
เสียงเพลงถิ่นพงไพร………….บอกกล่าว
เป็นสื่อฮักสายรุ้ง……………...แน่นแฟ้นพิสมัย ฯ

เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ

๓ กวีโวหาร คือ ภาษาเชิงกวีที่ผู้แต่งคิดรังสรรค์ขึ้น ได้แก่ สัมผัสสระ สัมผัสอักษร กลบท
ภาพพจน์และกลวิธีอื่นๆเพื่อให้ผลงานของตนบังเกิดรสทางวรรณศิลป์

ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยกลบทกระทู้เดี่ยวได้น่าสนใจโดยแตกกระทู้สาย เป็นสี่ความหมาย
คือ  ๑)ลำน้ำอันอุดมสมบูรณ์  ๒)ความโอบอ้อมอารีของคนพื้นถิ่น ๓)ทิวทัศน์อันงดงาม
และ๔)ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

สายธารไหลหล่อเลี้ยง………มวลประชา          ลำน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เฉลยบาท๔ว่า ลำน้ำโขง
สายแห่งความเมตตา………..โอบแคว้น          ความโอบอ้อมอารีของคนท้องถิ่น
สายรุ้งพร่างธารา……………..เพชรพุ่ง            ทิวทัศน์อันงดงาม
สายป่านรักแน่นแฟ้น………..ลุ่มน้ำโขงงาม ฯ    ความสามัคคีของคนในชุมชน


แต่ถึงกระนั้น กลับพรรณนาภาพพจน์หรือความเปรียบเบาไป   

สายธารไหลหล่อเลี้ยง………มวลประชา       เนื่องจากเป็นน้ำโขง  ควรเพิ่มปริมาณและความแรง               
                                                   ของสายน้ำโดยเปลี่ยนไหลเป็นหลาก ซึ่งยังแฝงนัยนำพาดิน 
                                                   ตะกอนที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมอีกด้วย

สายแห่งความเมตตา………..โอบแคว้น        แห่ง ความ เป็นคำหน้าที่(function word) ได้แก่
                                                   บุพบท สันธาน อาการนาม ซึ่งสื่อความได้น้อย
                                                   ควรหาคำเนื้อหา(content word) ได้แก่ นาม กริยา
                                                   คุณศัทพ์ วิเศษณ์มาขยายเมตตาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
 
สายรุ้งพร่างธารา……………..เพชรพุ่ง          เปรียบสายรุ้งเป็นแสงเพชรพุ่ง ผู้อ่านอาจนึกภาพ
                                                   ไม่ออกว่า สายรุ้งเป็นแสงเพชรพุ่งได้อย่างไร   

ความเปรียบนี้ อาศัยความช่างคิดสังเกต จึงจะเห็นสิ่งที่คนอื่นมองข้าม  แล้วจึงนำมาเปรียบเปรยด้วยกวีโวหารให้แจ่มกระจ่างลึกซึ้ง 
 

เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย……คงทน
โคเคลื่อนหมุนนำวน……….หมื่นลี้                         หมุนนำวน อ่านไม่เข้าใจ   หมื่นลี้ นึกถึงหนังจีน
บรรทุกสิ่งของคน…………...แทบโก่ง เพลาเฮย          เกวียนคงทน ถึงบรรทุกมาก ก็ไม่น่าแทบโก่ง
ยังแต่กาลบัดนี้……………...เพื่ออ้างงามสงวน ฯ          อ่านไม่เข้าใจ พยายามจับความ  งามสงวน
                                                               คงหมายถึง หญิงสาว  เข้าใจว่า ขณะนี้ กำลังเดินทางไปหาหญิงสาว

ส่วนบทกวีที่เหลือ กล่าวถึงธรรมชาติ ความคิดถึงนาง และการขับลำนำตามลำดับ 
ผู้แต่งสามารถพรรณนาภาพพจน์ได้อย่างเติมที่ตามขนบวรรณคดีไทย  แต่ก็ปรากฏภาพพจน์อยู่ไม่มากนัก


แสงทองทาบทุ่งข้าว………….เรืองวิไล       
นกกล่อมกังวานไกล………….ว่อนคุ้ง                     ว่อนคุ้ง คำเอกโทสดใหม่ ฟังเสนาะหู
เสียงเพลงถิ่นพงไพร………….บอกกล่าว                 บอกกล่าวอะไร  ความหมายไม่ชัดเจน
เป็นสื่อฮักสายรุ้ง……………...แน่นแฟ้นพิสมัย ฯ        สื่อรักสายรุ้ง ความเปรียบไพเราะแต่ไม่สื่อความ


เรียงคำหวานแผ่วพลิ้ว…………ตรึงฤทัย
ลอยผ่านธารพงไพร……………อุ่นเอื้อ                    ทำไมอุ่นเอื้อ ความหมายไม่ชัดเจน
อาวรณ์ห่วงคนไกล…………….พลัดถิ่น นาแม่
เพลงแห่งฝันไฟเชื้อ……………กล่อมซึ้งครวญเสนอ ฯ  เพลงแห่งฝัน ไม่น่าเปรียบกับ เชื้อไฟ


มนต์เสียงพิณแผ่วพลิ้ว………..องคุลี
ปานดั่งทิพย์เทพกวี…………….กล่อมย้ำ                  แสดงว่ากล่อมสองครั้ง  ทำไมกล่อมสองครั้ง
สายธารแห่งดนตรี……………..บอกถิ่น เฮาเอย
เพลงคู่พิณหวานล้ำ…………….รุ่งรุ้ง ผงาดแดน ฯ       เข้าใจว่า รุ่งปี ออกอัลบั้มเพลงพิณแล้วรุ่ง


ก่อนอำลาบทวิจารณ์
ผมคิดว่า ผู้ฝึกโคลงควรแต่งโคลงตามกำลังของเรา
ใช้ความเปรียบง่ายๆ เขียนใช้คำที่เราแม่นความหมายไปก่อน
สื่อความแล้วอ่านรู้เรื่อง
วรรคไหนทำสัมผัสอักษรได้ให้ทำทันที
จะสัมผัสในวรรคหรือข้ามวรรคก็ได้ทั้งนั้น
แล้วค่อยเพิ่มความเปรียบเข้าไปตามทักษะที่เพิ่มพูนขึ้น

ขอบคุณเพื่อนนักกลอนทุกท่านที่ทนอ่านโพสต์ข้อเขียนขนาดยาวนี้


 emo_126  emo_126



คนทันคันปากเข้า          วิจักษ์วิจารณ์
ยาวยืดเรื่องรำคาญ         พล่ามบ้า
หวังกวีศึกษาสราญ        ประสบประโยชน์
ผิดเบื่ออภัยทานข้า         ครึ่งรู้ใคร่เขียน


คนทัน

๑๕/๙/๕๕




เพื่อนนักกลอนที่เห็นต่างออกไป โต้แย้งได้เลยนะครับเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ

 emo_126


หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: ค.คนธรรพ์ ที่ 15 กันยายน 2012, 07:11:PM
เสียงเพลงถิ่นพงไพรฉบับเกลาบทกวี

สายธารหลากหล่อเลี้ยง         มวลประชา
สายอบอุ่นเมตตา                   โอบแคว้น
สายรุ้งถักทอนภา                   สวยสลับ
สายรักเนาแน่นแฟ้น              ลุ่มน้ำโขงงาม ฯ                         

เพรงกาลเกวียนเล่มน้อย         คงทน
โคคืบเคลื่อนกงวน                 หมื่นลี้
มอ มอ ต่างของคน                 เกวียนเก่ง                                 
ทางท่องไกลบัดนี้                  เยี่ยมเจ้าทรามสงวน ฯ

แสงทองชโลมทุ่งข้าว              เรืองวิไล
สกุณากังวานไกล                    ว่อนคุ้ง
เสียงเซ็งแซ่พงไพร                  สดับเสนาะ                /กระจิ๊บ กระจิ๊บแซ่เสียงไพร     สดับเสนาะ   
นกสื่อเยือนเหย้ายุ้ง                  เสาะล้ำอาหาร ฯ

เอ่ยหวานคำซ่านซึ้ง                 ตราตรึง
ลมโบกพร่ำรำพึง                     แต่น้อง
อาวรณ์ห่วงคิดถึง                    แหห่าง  แม่นา
ฝากชื่นฝันสู่ห้อง                    กล่อมก้องคำครวญ ฯ

ร่ายมนตร์พิณแผ่วพลิ้ว          องคุลี
หวานหยดทิพย์กวี                 กลั่นเกลี้ยง                     
ลำนำประเพณี                       พื้นถิ่น เฮาเอย
ขับคู่คลอพิณเพี้ยง                 สุดซึ้งเสียงสวรรค์ ฯ





หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: อริญชย์ ที่ 15 กันยายน 2012, 07:28:PM
ขอขอบคุณ คนทัน ที่เมตตาช่วยวิจารณ์ ชี้แนะแนวทางการแต่งโคลงให้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง รวมทั้งได้เกลาบทโคลงให้มีชีวิตชีวามากขึ้น  ข้าน้อยขอน้อมรับฟังคำวิจารณ์ ชี้แนะทั้งหมดด้วยความนับถือในฝีมือ


และจะพยายามฝึกฝนการเขียนโคลงไปเรื่อย ๆ  เท่าที่มีโอกาส  ถ้าคุณทันพบเห็นที่กระทู้ไหน ก็ขอให้วิจารณ์ ชี้แนะ ได้เช่นเคย  ไม่ว่ากัน

ขอขอบคุณ คนทัน อีกครั้งมา ณ โอกาสนี้

                                                           อริญชย์




 emo_107


หัวข้อ: Re: เชิญท่านผู้รู้วิจารณ์โคลง ชี้แนะแนวทาง เพื่อความดีงามร่วมกัน
เริ่มหัวข้อโดย: ช่วงนี้ไม่ว่าง ที่ 15 กันยายน 2012, 08:51:PM


            เห็นคนทันมานั่งวิเคราะห์วิจารณ์บทโคลง แล้วเขียนคำอธิบายยาวยืด  ต้องขอชื่นชมในความวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละ
และต้องขอชื่นชมเจ้าของกระทู้ด้วยที่ยอมเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์  จะว่าไปก็อยากจะวิจารณมั่งละนะ แต่ว่า ขี้เกียจคิด  ขี้เกียจเขียน
เพราะมันเสียเวลา  ให้เขียนสั้นๆพอได้  แต่จะให้เขียนเป็นหน้าคงไม่เอาด้วย  ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ทั้งคู่นะครับ   emo_45

๐มือบ่ถึงจึงเร่งเร้น   หลีกไกล
คีย์บอร์ดสัมผัสไว   หนึ่งนิ้ว
พิมพ์มากจะดีไฉน   กันเล่า
จิ้มมั่วกลัวเกลอกริ้ว  เหตุช้าล้าสมัย
 

         บทนี้ห้ามวิจารณ์กันนะ(กลัวโดนวิจารณ์ อิอิ )

                        emo_85