พิมพ์หน้านี้ - ฟ. ฮีแลร์

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => กลอนอวยพรอื่นๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: toshare ที่ 08 พฤษภาคม 2012, 11:24:PM



หัวข้อ: ฟ. ฮีแลร์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 08 พฤษภาคม 2012, 11:24:PM
........................ข้าแต่พระบิดา
กาพย์ยานี ๑๑
.................................................ฟ. ฮีแลร์


...........ข้าแต่...พระบิดา..............ผู้ผ่านฟ้า...ทิพาลัย
พระนาม...ระบือไกล....................คนกราบไหว้...ทั่วหน้ากัน

...........ต่างคน...ปรนนิบัติ...........ตามดำรัส...พระทรงธรรม์
เหมือนอย่าง...ชาวสวรรค์...............สนองสรรพ...(พะ)บัญชา

...........ข้าวปลา...กระยาหาร.........ขอประทาน...เลี้ยงชีวา
บาปกรรม...ที่ทำมา......................กรุณา...ให้อภัย

..........ผู้ใด...ได้ล่วงสิทธิ์.............ลูกยกผิด...ไม่ว่าใคร
ขอทรง...เอื้ออวยชัย.....................ให้พ้นภัย...ผจญเทอญ




ฟ.ฮีแลร์ หรือ เจษฎาธิการฮีแลร์ เป็นศาสนนามของ ฟรังซัว ดูเวอเนท์ (ฝรั่งเศส: Fronçois Touvenet) ฟ.มิได้ย่อมาจากนามเดิม หากย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส frère ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Brother ซึ่งบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย เจษฎาจารย์ หรือ ภารดา นั่นเอง

ด้วยความตั้งใจจริง ท่านจึงพยายามฟังเด็กไทยท่อง “มูลบทบรรพกิจ” อยู่เป็นประจำ ถึงกับหลงใหลจังหวะจะโคนและลีลาแห่งภาษาไทย เกิดมุมานะเรียนรู้ภาษาไทยจนถึงแต่งตำราสอนเด็กได้ และตำราที่ว่านั้นก็คือ “ดรุณศึกษา” นั่นเอง จากฝีไม้ลายมือในการแต่งหนังสือของท่านนั้น ทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดเชิญเข้าเป็นสมาชิกของ สมาคมวรรณคดี เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2475 ณ ราชบัณฑิตสภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


หัวข้อ: Re: ฟ. ฮีแลร์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 03 มิถุนายน 2012, 08:18:PM

Two men look out through the same bars: One sees the mud and one the stars.

—Langbridge, Frederick

  in "A Cluster of Quiet Thoughts" published by the Religious Tract Society

จากคุณ   : surgman  เขียนเมื่อ   : 2 ธ.ค. 52 11:26:12



สองคน ยลตามช่อง….คนหนึ่งมอง เห็นโคลนตม

อีกคน ตาแหลมคม ….มองเห็นดาว อยู่พราวพราย

      ฟ. ฮีแลร์ แปล



หัวข้อ: Re: ฟ. ฮีแลร์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 04 มิถุนายน 2012, 06:51:AM

ปราชญ์หนหลัง แต่งหนังสือ มีชื่อเสียง........ใช่แต่เพียง หยิบปากกา ขึ้นมาเขียน

ต้องหมั่นตรึก ศึกษา ตำราเรียน.................ทั้งพากเพียร ถามครู อ่าน ดู ฟัง

โครงศรีปราชญ์ เชิงกลอน สุนทรภู่.............ถ้าตรองดู ของท่านเพราะ เสนาะขลัง

ดูสมเรื่อง แต่เบื้องต้น จนเอวัง..................ความไม่บัง เค็มเด็ด ดังเม็ดเกลือ

ตอนเด็กพูด คำลม้าย คล้ายเด็กพูด.............ถ้าตอนทูต สมสง่า ยิ่งกว่าเสือ

ตอนละห้อย พลอยสมเพช น้ำเนตรเจือ..........ดูสมเนื้อ สมตัว ทุกทั่วนาย

ถ้อยก็งาม ความไม่ลับ กระชับชิด..................ตีสนิท หลับตาเห็น เหมือนเช่นหมาย

ถูกระบอบ ชอบจริง ทั้งหญิงชาย...................แสนเสียดาย เราไม่เอา อย่างเขาเอย


หัวข้อ: Re: ฟ. ฮีแลร์
เริ่มหัวข้อโดย: toshare ที่ 04 มิถุนายน 2012, 08:29:PM

....อันคนดี ที่ไทย ใฝ่ประสงค์............ไม่เจาะจง คนรวย หรือสวยสี
ไม่ใช่คน ปริญญา วิชาดี....................แต่เซ็งลี้ ถึงขนาด ที่ชาติงอม
ไม่ใช่เช่น พุ่มพวง ลวงประดิษฐ์............งามวิจิตร แต่รูป จูบไม่หอม
ไม่ใช่เช่น  ธำมะรงค์ เครื่องทรงปลอม.....ที่เขาย้อม ทองเปลว เลวจริงจริง


ขอพระ อวยท่าน นิรันดร์เทอญ

ดรุณศึกษา

ดรุณศึกษา แบบเรียน ภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษา แต่งโดยนักปราชญ์ ชาวฝรั่งเศส ฟ. ฮีแลร์ หรือ เจษฎาธิการฮีแลร์ ทั้งหมด 5 เล่ม ใช้เวลาแต่ง 11 ปี
แต่งถวายอุทิศพระราชกุศลในงานพระเมรุ รัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2454 โดยมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เป็นผู้ประทานคำแนะนำและทรงแก้ไขให้ด้วยพระองค์เอง อีกทั้งดำริให้หนังสือดรุณศึกษาใช้เป็นตำราแทนตำรา มูลบทบรรพกิจ
ทั้งยังประทานคำชมแก่ท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ในการแต่งดรุณศึกษาอีกด้วย
เป็นเหตุให้ดรุณศึกษาได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปสู่สถาบันการศึกษาและสาธารณชน
ปัจจุบันแบบเรียน ดรุณศึกษา ยังคงใช้เป็นแบบเรียนในเครือคาทอลิกมาจนถึงทุกวันนี้

ดรุณศึกษา เป็นแบบเรียน หนังสือนิทาน คำกลอนโคลง และภาพประกอบสอนเด็ก
อย่างเช่นมี เรื่องพระยากง พระยาพาล นิทานตำนานของจังหวัดนครปฐม