พิมพ์หน้านี้ - ๐วิถีไทยทรงดำ๐

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => กลอนประวัติศาสตร์ => ข้อความที่เริ่มโดย: อริญชย์ ที่ 25 มีนาคม 2012, 09:50:PM



หัวข้อ: ๐วิถีไทยทรงดำ๐
เริ่มหัวข้อโดย: อริญชย์ ที่ 25 มีนาคม 2012, 09:50:PM
(http://www.dailynews.co.th/sites/default/files/imagecache/620x245/cover/18769.jpg)


     ๐วิถีไทยทรงดำ๐

งามวิถีไทยทรงดำประจำถิ่น
ด้วยศาสตร์ศิลป์พิธีกรรมอันล้ำค่า
ยึดถือธรรมและภูตผีเคยมีมา
ทอเสื้อผ้าใช้เองครื้นเครงใจ

หวงแหนประเพณีถิ่นที่อยู่
รักอุ้มชูสายธาราภูผาใหญ่
กลุ่มภาษาเกื้อกูลตระกูลไท
เรืองวิไลชาติพันธุ์นิรันดร์กาล

ความพอเพียงคือวิถีแห่งชีวิต
มีแนวคิดสืบภาษาร่วมผสาน
เพลงดนตรีแห่งศรัทธามีมานาน
อีกเรือนชานงามสง่าเอกลักษณ์

อ้ายคือพ่อ เอ็มคือแม่ เฮือนคือบ้าน
ให้ลูกหลานรู้คุณค่าตรองตระหนัก
รักษาสิ่งบรรพบุรุษให้สุดรัก
ร่วมใจภักดิ์สามัคคีไมตรีกัน

ไทยทรงดำชนเผ่าอันเก่าแก่
โดดเด่นแท้ในแนวทางคิดสร้างสรรค์
ยังทอหูกยิ้มสดชื่นทุกคืนวัน
และแบ่งปันผักปูปลาทุกคราเอย ฯ

                    อริญชย์
                ๒๕/๓/๒๕๕๕



ไทยทรงดำ ไผ่หูช้าง - ฟ้ากว้าง
วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2555 เวลา 00:00 น.
       
ประโยชน์ของการท่องเที่ยวไม่ได้มีแค่ดูของสวย ของแปลก และหาของอร่อยใส่ท้องเท่านั้น ยังเป็นกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชนอีกด้วย

ที่ชวนไปโน่นมานี่ไม่หยุดหย่อน ตามชุมชน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เพราะอย่างงี้แหละ

บ้านไผ่หูช้าง อ.บางเลน จ.นครปฐม  ชุมชนของคนเชื้อสายไทยดำ หรือไทยโซ่ง บางทีก็เรียกไทยทรงดำ เป็นแหล่งที่คงวิถีวัฒนธรรมสืบทอดกันมากว่าสองร้อยปี ทั้งการดำรงชีวิต ความพร้อม ความรักในความเป็นชาติพันธุ์ไทยดำ รักและหวงแหนประเพณี วัฒนธรรม มีสถานที่ ตัวตน บุคคล ภาษาพูด สภาพบ้านเรือน แม้กระทั่งเสื้อผ้าก็ยังทอใช้เอง

ไทยโซ่ง เคยมีผู้เข้าใจว่าเป็นคนลาวแต่แท้จริงโซ่งไม่ได้เป็นภาษาย่อยในกลุ่มลาว แต่อยู่ในกลุ่มไท หรือกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทที่อยู่นอกประเทศไทย เช่น ไทดำ ไทขาว ในเวียดนาม คำว่า ไทโซ่ง จึงเป็นการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ย้ายมาจากประเทศอื่น  โซ่งหรือทรง หมายถึงกางเกง โซ่งดำ หรือทรงดำ เป็นคำเรียกตามเครื่องนุ่งห่มที่ใช้           เพราะไทยโซ่ง นิยมนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีดำย้อมคราม อย่างเดียว ไม่มีสีอื่น
 
ไทยโซ่ง อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรสยามหลายครั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง ช่วง พ.ศ. 2322 –2430 ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงให้กองทัพเมืองหลวงพระบาง ยกไปตีเอาเมืองของผู้ไททรงดำริมเขตแดนเวียดนามเหนือ กวาดต้อน กลับมา กลุ่มลาวเวียงจันทน์ให้อยู่เมืองสระบุรีราชบุรี และจันทบุรี ส่วนไททรงดำให้อยู่ ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ต่อมาก็ย้ายถิ่นฐานไปหาที่ทำกินใหม่ ในย่านใกล้เคียง เช่น ราชบุรี สุพรรณ บุรี นครปฐม สมุทร สาคร
       
กลุ่มที่อพยพ มาอยู่ที่ จ.นครปฐม ย้ายออกมาจาก จ.เพชรบุรี มาได้ 3-4 ชั่วคนแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกทั้งเทคโนโลยี หรือวัฒนธรรมใหม่ แม้จะเล็ดลอดเข้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้ชุมชนนี้มีความเปลี่ยนแปลง เด็กเล็กจนถึงวัยรุ่น ยังเรียนภาษาของชาติพันธุ์ควบคู่กับหลักสูตรมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

พิธีกรรมทั้งปวงเกี่ยวกับผีเฮือนหรือผีบรรพบุรุษยังคงมีอยู่อย่างเหนียวแน่น โดยไม่ขัดหรือแย้งกับการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนทีมนักวิชาการนำโดย สมทรง บุรุษพัฒน์ ทำวิจัยโครงการ “ชาติพันธุ์ : กระบวนทัศน์ใหม่ในการสืบสานภาษาและวัฒนธรรม” โดยเลือกศึกษากลุ่มไทยดำ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งพบว่า การสืบสานภาษาและวัฒนธรรมไทยโซ่ง เกิดจากการพัฒนาหลักสูตรของภาษาชาติกลุ่มชาติพันธุ์ การนำวัฒนธรรมดนตรี เช่น เพลงขับสายแปง เป็นสื่อ และกำลังจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในชุมชนที่บ้านไผ่หูช้าง อ.บางเลน
       
ชาวไทยทรงดำ มีภาษาอยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาพวน และไทยยวน ระบบเสียงคล้ายภาษาไทยแต่มีเสียง “ย” ขึ้นจมูกเหมือนไทยอีสาน มีวรรณยุกต์ 6 หน่วยเสียง มีศัพท์เฉพาะ เช่น อ้ายคือพ่อ เอ็มคือแม่ เฮือน แปลว่าบ้าน ขี่แบ่ว หมายถึงโกหก แจ่บ เท่ากับอร่อย ถ้อยคำที่พูดแบบท้องถิ่น จึงพอฟังกันได้

ในขณะที่พื้นที่ห่วงว่าภาษาท้องถิ่นเริ่มเพี้ยน แต่คนไทยทรงดำยังใช้ภาษาของเขา และถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน ปัจจุบันช่องทางการสื่อสารผ่านเว็บเฟซบุ๊ก (www.facebook.com (http://www.facebook.com)) นักวิจัยก็พบว่ามีการติดต่อกันของคนรุ่นใหม่ด้วยภาษาโซ่ง มีเครือข่ายที่ติดต่อกันทั้งในจังหวัดอื่น ๆ รวมถึงต่างประเทศ

ความที่ชาวบ้านมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเปิดชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวจึงตกลงกันไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้มุ่งหมายให้กลายเป็นชุมชนร้อยปีที่มีแต่รถเข็นลูกชิ้นปิ้ง กาแฟเย็น จึงจัดกิจกรรมบริการผู้ไปเยือนเฉพาะวันอาทิตย์ เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน โดยจะเปิดพื้นที่นำสินค้าของชุมชนและการละเล่นพื้นบ้านมาแสดง

โดยไม่ยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นอื่น เพราะจุดมุ่งหมายของการเปิดชุมชนก็เพื่อเผยแพร่ความเป็นไทยทรงดำ ถ้าสนใจ ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมระหว่างท่องเที่ยว ให้นัดหมายทางโทรศัพท์ที่ 08-0788-0605 หรือ 0-3494-4079

ช่วงสงกรานต์ ชุมชนนี้ก็มีกิจกรรมประเพณีที่แตกต่างจากที่อื่นทั่วไป เช่น จัดช่วงกลางคืน และมีเฉพาะแขกรับเชิญเท่านั้น

เส้นทางมุ่งสู่บ้านไผ่หูช้าง หากเริ่มต้นจากตัวเมืองนครปฐม ใช้เส้นทางนครปฐม-กำแพงแสน ถึงทางแยกขวาสู่บางเลน ให้เลี้ยวไปประมาณ 3 กม. จะเจอวัดไผ่หูช้างอยู่ทางซ้ายมือ จุดเริ่มต้นของการเยี่ยมเยียนเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน

จะได้รู้ว่า การรักษาสิ่งดี ๆ ที่บรรพบุรุษรังสรรค์ไว้ให้อยู่ยั่งยืนจนทุกวันนี้ ทำกันยังไง.



ขอบคุณเวบ

http://www.dailynews.co.th/article/725/18769 (http://www.dailynews.co.th/article/725/18769)


 emo_107 emo_60 emo_107


http://www.youtube.com/watch?v=zWU8iI2i7jg