พิมพ์หน้านี้ - เกร็ดกวี

ชุมชน บ้านกลอนไทย ชุมชนสำหรับคนไทยผู้รักกลอน

บทประพันธ์กลอนและบทกวีเพราะๆ => กลอนให้กำลังใจ => ข้อความที่เริ่มโดย: kk007 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 07:01:AM



หัวข้อ: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: kk007 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 07:01:AM
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ มหากวีสมัยศรีอยุธยา
เคยนิพนธ์โคลงกำกับการอ่านบทกวีไว้คู่หนึ่ง
ซึ่งกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงยกมาอ้างในนิพนธ์ "สามกรุง" ของพระองค์ว่า


   อักษรเรียบร้อยถ้อย         คำเพราะ
ผู้รู้รู้สารเสนาะ                 เรื่อยหรี้
บ่รู้อ่านไม่เหมาะ               ตรงเทิ่งไปมา
ทำให้โคลงทั้งนี้                ชั่วช้าเสียไป

    อักษรสวรรค์ช่างสร้าง     ชุบจาร
โคลงก็เพราะเสนาะสาร        แต่งไว้
ผู้รู้อ่านกลอนการ               พาชื่นใจนา
ผู้บ่รู้อ่านให้                   ขัดข้องเสียโคลง








(บางส่วนจากหนังสือ กลอนและวิธีการเขียนกลอน ของ ช่อประยงค์)


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: kk007 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 07:11:AM
กลอนแปด หรือกลอนสุภาพใช้ถ้อยคำสามัญเข้าใจง่าย สะดวกแก่การพูดการฟังของคนทั่วไป
จึงเรียกกลอนนี้อีกหนึ่งชื่อว่า "กลอนตลาด"

บทบัญญัติของกลอนสุภาพ อาจแบ่งได้ดังนี้

1. กลอนบทหนึ่ง มี 2 บาท หรือ 2 คำกลอน
2. กลอนบาทหนึ่ง หรือ 1 คำกลอน มี 2 วรรค
3. วรรคหนึ่งมีคำตั้งแต่ 7 ถึง 9 คำ
4. บาทแรกเรียกว่าบาทเอก บาทหลังเรียกว่าบาทโท
5. การประพันธ์จะประพันธ์กี่บทก็ได้ แล้วแต่เนื้องความที่จะประพันธ์นั้นสั้นหรือยาว
แต่เมื่อจบจะต้องจบในวรรคสุดท้ายของบาทโท  หรือในวรรคสุดท้าย (วรรคที่ 4) ของบทกลอน


ตัวอย่างกลอนสุภาพ

กลอนสุภาพ แปดคำ ประจำบ่อน
อ่านทุกตอน สามวรรค ประจักษ์แถลง
ตอนต้นสาม ตอนสอง สองแสดง
ตอนสามแจ้ง สามคำ ครบจำนวน

มีกำหนด บทระยะ กะสัมผัส
ให้ฟาดฟัด ชัดความ ตามกระสวน
วางจังหวะ กะทำนอง ต้องกระบวน
จึงจะชวน ฟังเสนาะ เพราะจับใจ




(บางส่วนจากหนังสือ กลอนและวิธีการเขียนกลอน ของ ช่อประยงค์)


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: kk007 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 07:26:AM
วรรคแรก ของบทกลอน จะเรียกว่า วรรคสดับ
วรรคสอง ของบทกลอน จะเรียกว่า วรรครับ
วรรคสาม ของบทกลอน จะเรียกว่า วรรครอง
วรรคสี่  ของบทกลอน จะเรียกว่า วรรคส่ง

การส่งสัมผัสนอก หมายถึงการใช้สระเดียวกันของคำ โดย

คำสุดท้ายในวรรคสดับ มักจะนิยมส่งสัมผัสไปยังคำที่สามของวรรครับ 
คำสุดท้ายของวรรครับ มักจะนิยมส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรครอง และคำที่สามของวรรคส่ง
และคำสุดท้ายของวรรคส่ง มักจะนิยมส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรครับ ในบทถัดไป เช่น


ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้หล้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาคลา

แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมปทุมทอง








(บางส่วนจากหนังสือ กลอนและวิธีการเขียนกลอน ของ ช่อประยงค์)

 


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: ดาวระดา ที่ 06 ตุลาคม 2009, 09:44:AM
อ่านคำเพชรเก็จพราวกล่าวถ้อยพจน์
น่าจำจดกฏจารให้แจ่มจ้า
ไว้ประดับขับบทรจนา
ร้อยภาษาพริ้งพรายร่ายวลี

คือข้อเกร็ดเคล็ดลับไม่ซับซ้อน
เสริมแต่งกลอนซ่อนคมชื่นชมคลี่
งามเพริศพจน์บทกานท์งานรุจี
ตามวิถีศรีถ้อยร้อยลำนำ


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: LionHeart1 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 10:21:AM
เกล็ดกวีที่บอกนี้ควรมีไว้
จะได้ใช้แต่งกลอนกันประพันธ์มา
จึงได้เข้ามาอ่านขอผ่านตา
มองดูพาแต่งกวีให้ดีเอย

 emo_28


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: kk007 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 10:39:AM
อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้สรุปบทบัญญัติการเขียนกลอนของ น.ม.ส.
ไว้ 5 ประการด้วยกันคือ

1.  ต้องบรรจุจำนวนคำให้ตรงตามแบบจริงๆ เช่น กลอนหก ต้องมี 6 คำจริงๆ
จะมีคำมากจนเป็นกลอนเจ็ดคำหรือแปดคำไม่ได้   กลอนแปดก็ต้องเป็น 8 คำ
จะมีคำมากเป็นกลอนเก้า หรือกลอนเจ็ด ก็ไม่ได้เป็นอันขาด (คำลหุยอมให้ปน
กับครุเป็นคำสมาส นับเป็น 1 คำได้ เช่น "เสบียง" จะนับเป็นคำเดียวก็ได้)

2.  ต้องไม่ให้มี "อาเก้อ"  หมายความว่า "สระอา"  มาเติมเข้าไปในที่ไม่มี
ความหมาย เช่น พักตรา ขัติยา ฤทธา ครรภา เป็นต้น

3. ต้องไม่ตัดศัพท์ผิด เช่น ปัจจา (ตัดมาจาก ปัจจามิตร)  ตักษัย (ตัดมาจาก ชีพิตักษัย)
นุกูล (ตัดมาจาก อนุกูล) เป็นต้น

4.  ต้องไม่ทับศัพท์ เช่น "พระภูมีพิโรธโกรธโกรธา  ดำรัสตรัสสั่งองค์กษัตริย์ขัติยา"
(พิโรธ โกรธ โกรธา ความหมายเดียวกัน) (ดำรัส ตรัส สั่ง ความหมายเดียวกัน) เป็นต้น

5.  ต้องไม่ให้กลอนพาไป  เช่น  "เจ็บคำคิดจิตขวย  หลงเชยเลยชมลมชวย
ดูรวยด้วยรวนด่วนร้าว"  (กลบทกบเต้นต่อยหอย)  หรือ "เห็นเดือนแดงโร่โจ้ท้องฟ้า
ฝูงนกกาบินเข้ารังไม่ยั้งเฉย  ต่างก็บินเข้ารังเล่นเช่นเคย  สงสารเอ๋ยแต่บำเรอเพ้อรำพัน"

ทั้ง 5 ข้อเป็นบัญญัติที่จะทำให้บทกลอนมีความไพเราะ เหมือนเป็นมาตรฐานที่นำไปใช้วัด
ความไพเราะของบทกลอนแต่ละบทได้ จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง พอเป็นเกร็ดกวี 
สุดท้ายขอฝากบทกลอนของ ส.เชื้อหอม ไว้เพื่อพิจารณาประกอบด้วยดังนี้


             กลอนเก้าคำจำไว้ด้อยไพเราะ       เขียนให้เหมาะแปดคำเพชรน้ำหนึ่ง
ให้ความหนักวรรคเดียวเป็นเกลียวกลึง           ผู้อ่านจึงจะชอบชมขอบคุณ
คำสุดท้ายวรรคแรกแยกกวดขัน                 เสียงสามัญอย่าใช้พาให้วุ่น
สัมผัสซ้ำจำจดงดเจือจุน                             จงใช้ดุลพินิจประดิษฐ์กลอน
อย่าเขียนให้ใจความตามเพ้อนึก                 จงตรองตรึกให้หนักเรื่องอักษร
อย่าสุกเอาเผากินสิ้นสังวร                           รวมสุนทรถ้อยไว้ให้งดงาม
จุดจบก็ขอให้กินใจหน่อย                           มิควรปล่อยเปะปะเหมือนสะหนาม
จบให้เด่นเห็นชัดจำกัดความ                       ให้ตรงตามเค้าโครงเรื่องโยงใย
เขียนเสร็จสรรพกลับมาตรวจตราผิด             ตรวจชนิดเรียงตัวจรดหัวใต้
เมื่อเห็นเหมาะเพราะดีจี้หัวใจ                     จึงเผยให้ประชาชนตราตรึง








1. น.ม.ส. เป็นพระนามแฝงของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
หรือพระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส
ทรงเป็นปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย
ทรงเป็นต้นราชสกุล "รัชนี" (--ข้อมูลจากวิกิพีเดีย--)

2. ส.เชื้อหอม ชื่อเต็มคือ สมจิตร เชื้อหอม เกิดที่บ้านวังหัวคู้ หมู่ที่ 1 ตำบลบางพลวง
อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ นายล้อม มารดาชื่อนางชั้น
มีอาชีพทำนา ส. เชื้อหอม เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คนด้วยความ
รักภาษาไทยเป็นชีวิตจิตใจจึงทำงานเพื่อภาษาไทยมากกว่า 40 ปี ชี้แนะ
และต่อสู้ด้วยความอดทนให้ผู้ผลิตสินค้าที่เขียนผิดหลักภาษาไทย ยอมแก้ไข
ให้ถูกต้อง เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ เป๊บซี่ แฟ้บ ไฮเป๊กซ์ แท็ตทู แม็กนั่ม ฯลฯ
และยังทำให้ผู้ที่ไม่ซึ้งถึงค่าภาษาไทย คิดแก้ไขภาษาไทยให้ถูกต้องอีกด้วย

ปัจจุบัน เป็นประธานชมรมผู้อนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่
มีผลงานดีเด่นเป็นคุณประโยชน์ต่อการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ของหน่วย
ศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประธานฝ่ายคำร้องเพลง
"พระพิฆเนศทองพระราชทาน" สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรม
ราชูปภัมภ์ ผลงานประพันธ์รวมเล่มมีหลายเรื่องคือ "ภาษาพาที" "ภาษาไทยคือ
ไทย" "อ้ายเปีย" "ชีวิตในวัยเด็ก" ของพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทะ)
"วลีลีลา" "พุทธประวัติ" "ภาษาภาษิต" "ภาษาปาก" "วัจนามนี"(ร้อยกรอง)
"ภาษาสื่อมวลชนมีกี่คนที่ทนรับได้" "ผ่าเพลง" ฯลฯ..
(--ข้อมูลจาก http://www.ru.ac.th/province/prachinburi/goodper/sor/sor.htm-- (http://www.ru.ac.th/province/prachinburi/goodper/sor/sor.htm--))


3. คัดลอกบางส่วนจากหนังสือ กลอนและวิธีการเขียนกลอน ของ ช่อประยงค์


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: จะไม่เด็ด ที่ 06 ตุลาคม 2009, 10:50:AM

เกร็ดกวีนี้รัญจวนชวนหลงใหล
ให้หลงไกลในถ้อยแถลงแปลงอักษร
จนกำจายในแหล่งหล้าฟ้าอมร
ทิฑัมพรยังมิงามตามใจปอง

หากแต่เพียงเสียงกวีศรีสยาม
กระเดื่องนามอร่ามหล้ามาทุกผอง
ด้วยเรารับฉันทลักษณ์มาเคียงครอง
จึงสมปองครองสถานม่านแห่งกวี..อิอิ

...แบบว่า...ไม่รู้สิ


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: kk007 ที่ 06 ตุลาคม 2009, 11:11:AM
เข้าใจว่าบทแนะนำการเขียนกลอนของ ส.เชื้อหอม

ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงใหม่ เป็นบทกลอนที่ชื่อว่า "เพชรน้ำหนึ่ง"  ดังนี้


เพชรน้ำหนึ่ง

๏...กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพ"เราะ"
เขียนให้"เหมาะ" แปดคำ เพชรน้ำ"หนึ่ง"
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกน"กลึง"
กลอนจะ"ซึ้ง" ติดใจ และให้"คุณ"

..คำสุดท้าย วรรคแรก แยกพิ"เศษ"
สามัญ"เขต" หวงห้าม ตามเกื้อ"หนุน"
ท้ายวรรคสอง ต้องรู้อยู่เป็น"ทุน"
เอก-โท"จุน" จัต วาประ"พนธ์"

..ท้ายวรรคสาม วรรคสี่ นี้จำ"มั่น"
เสียงสา"มัญ" -ตรีใช้ ได้ทุก"หน"
สัมผัสซ้ำ จำจด งดปะ"ปน"
จงคิด"ค้น" ถ้อยคำ ที่จำ"เป็น"

..ไม้ไต่คู้ ใช้กับ ไม้ไต่"คู้"
เมื่อฟัง"ดู" เด่นดีดั่งที่"เห็น"
เสียงสั้นยาว ก้าวก่าย หลายประ"เด็น"
อย่าบำ"เพ็ญ" พ้องกัน นิรัน"ดร"

..อย่าเขียนให้ ใจความ ตามเพ้อ"นึก"
จงตรอง"ตรึก" ตระหนัก เรื่องอัก"ษร"
คติธรรม นำใส่ ให้สัง"วร"
รวมสุน"ทร" ถ้อยไว้ ให้งด"งาม"

..จุดจบก็ ขอให้ กินใจ"หน่อย"
มิควร"ปล่อย" เปะปะ เหมือนสะ"หนาม"
จบให้เด่น เห็นชัด จำกัด"ความ"
ให้ตรง"ตาม" เค้าโครง เรื่องโยง"ใย"

..เขียนเสร็จสรรพ กลับมา ตรวจตรา"ผิด"
ตรวจ"ชนิด" เรียงตัว ทั่วกัน"ใหม่"
เมื่อเห็นเพราะ เหมาะด ีจี้หัว"ใจ"
จึงเผย"ให้" ประชา ชนตรา"ตรึง"

..กลอนเก้าคำ จำไว้ ด้อยไพ"เราะ"
เขียนให้"เหมาะ" แปดคำ เพชรน้ำ"หนึ่ง"
แต่ละวรรค หนักแน่น ดุจแกน"กลึง"
ผู้อ่าน"จึง" จะชอบ ชมขอบคุณ๚๛

ส. เชื้อหอม.........ประพันธ์






ที่มาจาก http://www.st.ac.th/thaidepart/poetry_1.php (http://www.st.ac.th/thaidepart/poetry_1.php)


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: เพรางาย ที่ 06 ตุลาคม 2009, 11:13:AM
เกร็ดนิดสะกิดคิดหน่อย
อย่าปล่อยถ้อยพ่นเพ้อเจ้อ
คุมคำห้ามพลั้งเผอเรอ
ฉันเธอสุนทรกลอนไทย


 emo_50


หัวข้อ: Re: เกร็ดกวี
เริ่มหัวข้อโดย: kk007 ที่ 07 ตุลาคม 2009, 08:28:AM
ช่อประยงค์กล่าวถึงเรื่อง ความรู้สึกนึกคิดของนักกลอนไว้ใจความว่า

นักกลอนส่วนใหญ่มักนึกเรื่องที่จะเขียนไม่ค่อยได้ ทั้งที่จริงแล้ว เรื่องที่จะนำมาเขียนนั้นมีอยู่มากมาย
ช่อประยงค์ได้เสนอให้หยิบยกเอาประเด็นใดประเด็นหนึ่งจากภาพที่ได้เห็น หรือจากมโนภาพ
ที่เกิดขึ้นในใจ แล้วเกิดเจตนามุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งแฝงอยู่   ดังเช่น สุนทรภู่ เมื่อครั้งเขียน
นิราศภูเขาทอง ถึงตอนหนึ่งที่นั่งเรือผ่านไปเห็นโรงเหล้า ก็เกิดนึกถึงเหล้าแล้วเขียนออกมาเป็นว่า

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
พระสรรเพชรโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป



ช่อประยงค์ให้ความเห็นต่อว่า กวีสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันทั้งในด้านสภาพแวดล้อมและ
ความรู้สึกนึกคิด แต่เมื่อพิจารณารวมๆ แล้ว บทกวีที่แต่งก็มักจะหนีไม่พ้น 4 ประเภทตามที่
อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้ประมวลไว้ คือ

1. บทกวีเกี่ยวกับศาสนา ลัทธิธรรมเนียม

2. บทกวีแสดงอุดมคติ ซึ่งเกิดแต่ตัวนักประพันธ์เอง

3. บทกวีที่เป็นการจรรโลงใจ  เมื่อมีสิ่งหนึ่งมากระทบกระเทือนใจอย่างแรง จนอดไม่ได้ที่จะ
ถ่ายทอดความสะเทือนใจนั้นออกมาเป็นเรื่องราว

4. บทกวีที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคม 

บทกวีทั้ง 4 ประเภท ช่อประยงค์กล่าวไว้ว่าเป็นเหมือนตาข่ายคลุมความรู้สึกนึกคิดของนักกลอน
ที่ไม่ว่าจะถ่ายทอดออกมาในลักษณะบทกลอนแบบใด ก็มักจะอยู่ในเรื่องทั้ง 4 ประเภทนี้เสมอๆ

ดังนั้นการที่นักกลอนบอกว่านึกเรื่องที่จะเขียนไม่ออก จึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญ  แต่การที่จะถ่ายทอด
ความคิดออกมาให้เป็นบทกลอนได้ความหมายและตรงตามที่ใจนึกนั้นจะเป็นปัญหากับนักกลอนมากกว่า

ซึ่งในประเด็นหลังนี้ ช่อประยงค์ให้คำแนะนำว่า นักกลอนที่ต้องการจะพัฒนาการถ่ายทอดสื่อความ
ของตนเองให้ดีขึ้น โดยควรจะพัฒนาในประเด็นดังต่อไปนี้

1.  ความคิดริเริ่ม  หมายถึง สร้างสรรค์การใช้ถ้อยคำสื่อเนื้อความขึ้นมาใหม่ได้ โดยไม่ลอกเลียนแบบคนอื่น

2.  เป็นตัวของตัวเอง  หมายถึง มีลักษณะการเขียนกลอนเป็นของตนเอง เช่น กลอนของสุนทรภู่ เมื่อ
ใครได้อ่านก็จะสันนิษฐานได้ว่านี่น่าจะเป็นกลอนที่สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์

3.  การถ่ายทอดอารมณ์  อารมณ์เป็นวิญญาณของกลอน กลอนใดที่ผู้อ่านรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ มักเป็นเพราะ
ผู้เขียนได้สอดแทรกอารมณ์ของตนเองไว้ได้มากและดีที่สุดนั่นเอง

4.  การรู้จักถ้อยคำ  ถ้อยคำคือหัวใจของกลอน นักกลอนที่รู้จักถ้อยคำมาก ย่อมเขียนกลอนได้ดีกว่าผู้ที่รู้จัก
ถ้อยคำในวงจำกัดเสมอ

5. รู้จักเลือกประเด็นมาเขียน   นักกลอนควรมีมุมมองที่แตกต่าง เพราะหากมองแล้วเห็นเหมือนคนทั่วไป
กลอนบทนั้นก็จะไม่มีชีวิตชีวาเท่าที่ควร

6. ความเป็นเอกภาพ บทกลอนที่ดีควรเป็นเรื่องราวที่ติดต่อกันไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนลูกโซ่
ตั้งแต่ต้นจนจบ คนอ่านคนฟังจึงจะจับเนื้อหาได้ ไม่ใช่บทแรกว่าอย่างหนึ่ง บทต่อไปกับว่าอีกอย่างหนึ่ง
กลอนย่อมขาดความเชื่อมโยงและด้อยความหมายไร้ความรู้สึกไปโดยสิ้นเชิง

7.  มีหูเป็นนักดนตรี หมายถึง การเขียนกลอนให้มีสัมผัสไพเราะ ทั้งสัมผัสนอก สัมผัสใน ซึ่งขึ้นอยู่กับ
การใช้ถ้อยคำเป็นสำคัญ รองลงมาก็คือการใช้คำที่เป็นเสียงวรรณยุกต์ และคำครุ คำลหุ ซึ่งต้องรู้ด้วยว่า
ควรจะวางไว้ตรงไหนจึงจะไพเราะ  การที่เราจะรู้ก็โดยการอ่านดังๆ แล้วฟังดู พร้อมสังเกตุจากเสียงว่า
สละสลวยและได้จังหวะสัมผัสกันดีหรือไม่เป็นสำคัญ




(สรุปความมาจากหนังสือ กลอนและวิธีการเขียนกลอน ของ ช่อประยงค์ หน้า 64 - 67)